ประชาสัมพันธ์

คำว่าชาติไทย หรือ สยาม เกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีคำตอบ!!




เป็นคำตอบของคุณ ศรีสรรเพชญ์ 

ตอบไว้ที่ กระทู้ ชาติไทยเกิดขึ้นตอน ร.1 ใช่ไหมครับ?
https://pantip.com/topic/36211246/comment4


ยาวมาก แต่ได้ความรู้

คำว่า ไทย ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุทธยาครับ ส่วนคำว่าสยามไม่ปรากฏคนไทยสมัยโบราณเรียกชนชาติของตนหรือใช้เรียกประเทศอย่างเป็นทางการจนสมัยรัชกาลที่ ๔ ครับ 

คำว่า 'สยาม' คำนี้อย่างว่าเป็นคำที่เรียกในภูมิภาคนี้มาแต่โบราณซึ่งอาจจะรับมาหรือมีชนอื่นเรียก ซึ่งรากเดิมจิตร ภูมิศักดิ์สันนิษฐานว่า "สยาม" มาจากคำว่า ซาม หรือ เซียม และคำที่คล้ายคลึงกับคำทั้งสองนั้นคือ ซำ หรือ ซัม ซึ่งเป็นภาษาไตเก่าแก่มีความหมายเกี่ยวกับน้ำและที่ราบลุ่ม เนื่องด้วยลักษณะพิเศษของคนไตที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามซำต่าง ๆ ทำให้ชนชาติใกล้เคียงเรียกคนไตว่าพวก ซำ หรือ ซัม"


เข้าใจว่าเมื่อเวลาผ่านไปความหมายก็อาจเปลี่ยน คนก็อาจจะลืมเลือนหมด อย่างที่ลาลูแบร์ที่ว่า "ชื่อ เซียม (siam) นั้น ไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวเซียม คำนี้เป็นคำหนึ่งในบรรดาคำที่พวกโปรตุเกสในอินเดียใช้กัน, และก็เป็นคำที่ยากจะค้นหารากเหง้าที่มาของมันได้ พวกโปรตุเกสใช้คำนี้เป็นชื่อเรียกชนชาติ มิใช่เป็นชื่อราชอาณาจักร.....อนึ่งใครก็ตามที่เข้าใจภาษาโปรตุเกสย่อมรู้ดีว่า รูปคำที่โปรตุเกสเขียนคำนี้เป็น Siam บ้างและ Siao บ้างนั้น เป็นคำเดียวกัน และถ้าจะเอาคำโปรตุเกสนี้มาอ่านออกเสียงตามอักขรวิธีของฝรั่งเศสเราแล้วก็ต้องออกเสียงว่า ซียอง (Sions) มิใช่เซียม (Siams); เช่นเดียวกัน เมื่อเขียนเป็นภาษาละติน ก็เรียกชนชาตินี้ว่า ซิโอเน (Siones)

"ชาวเซียมนั้นเรียกตัวเองว่า ไท (Tai), หมายความว่า อิสระ, ตามความหมายของคำในภาษาของเขาซึ่งยังมีความหมายเช่นนั้นมาจนทุกวันนี้ ชาวเซียมมีความภูมิใจที่ใช้คำนี้เช่นเดียวกันกับบรรรพบุรุษของเราซึ่งใช้นามว่า ฟรองซ์ (Franc) เมื่อได้กอบกู้อิสระภาพของชาวกอลให้หลุดพ้นจากอำนาจครอบครองของโรมันมาได้ ผู้ที่รู้ภาษามอญ (Pegu) ยืนยันว่าคำ เซียม ในภาษามอญนั้นแปลว่า อิสระ ถ้าเช่นนั้นบางทีคงจะเป็นไปได้ว่าชาวโปรตุเกสยืมคำนี้มาจากภาษามอญ, น่าจะเป็นว่าได้รู้จักชาวเซียมโดยผ่านชาวมอญอีกที แต่อย่างไรก็ดี นาวารเรต (Navarrete) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรจีน (Traitez Historique du Royaume de la Chine) บทที่ ๑ ตอนที่ ๕ ว่า ชื่อ เซียม, ซึ่งนายนาวาเรตเขียน เซียน (Sian) นั้น, มาจากคำสองคำคือ เซียนหลอ (Sian-lo), แต่หาได้อธิบายไว้ไม่ว่าคำทั้งสองนี้มีความหมายว่ากระไร, ทั้งก็มิได้บอกไว้ว่าเป็นคำภาษาอะไร, ชวนให้เราเข้าใจว่า นายนาวาเรตถือว่า คำทั้งสองนั้นเป็นภาษาจีน..." 

หรือนิโกลาส์ แชรแวสกล่าวว่า "...ชาวต่างประเทศเรียก สยาม(Siam)เป็นนามราชอาณาจักร แต่คนพื้นเมืองรู้จักแต่คำว่า เมืองไทย(Meüang-Thây)หรือไม่ก็เมืองกรุงเทพมหานคร(Meüang-Croung-Thêp-Maanacone)"

คำว่า 'สยาม' จะว่าคนไทยไม่รู้จักเลยคงไม่ใช่ เพราะมีใช้อยู่ในทางสงฆ์ ในงานแต่งวรรณกรรมบาลีหรืออย่างเช่นในหนังสือที่พระแต่งภาษามคธ ก็เรียก 'สยามทิยราชปเทเส'(ประเทศของพระเจ้าแผ่นดินไทยคือสยาม) เข้าใจว่าในสมัยนั้นคำว่าสยามน่าจะเป็นคำโบราณที่ใช้เรียกดินแดนแถบนี้ แต่ไม่ได้ปรากฏใช้งานจริงทางราชการหรือการเรียกทั่วๆไป เมื่อเทียบกับ 'ไทย' หรือ 'อยุทธยา' ที่เรียกตลอดในสมัยกรุงศรีอยุทธยา(แต่คำว่าอยุทธยาจะแพร่หลายกว่า)

ในสมัยอยุทธยาไม่เคยพบหลักฐานว่าเราเรียกตนว่า 'สยาม' อย่างเป็นทางการเพิ่งมาใช้เป็นทางการครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ ครับ
ในอดีตกษัตริย์ก็เรียกว่า 'พระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา' 'พระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยา' หริอ 'พระมหากษัตรยาธิราชเจ้ากรุงไทย' ไม่เคยเรียกว่า 'พระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม'

ในพระราชกำหนดกฏหมายเก่าของอยุทธยาก็เรียกชนชาติว่า 'ใท' 'ไท' 'ไทย' ไม่ปรากฏเรียกสยาม

ในสนธิสัญญาที่ทำกับฝรั่งเศส พ.ศ.๒๒๓๐ ระบุว่า ใช้ ภาษาไทย ไม่ใช่ ภาษาสยาม




ในสมัยพระเพทราชา และสมัยธนบุรีต่างเรียกแผ่นดินกว่า 'กรุงไทย' ไม่ใช่ 'กรุงสยาม' เรียก 'ชาวไทย่' ไม่เรียก 'ชาวสยาม' ดังในจดหมายเจ้าพระยาศรีธรรมราช(ปาน) และพระราชสาส์นที่พระเจ้ากรุงธนบุรีที่ส่งไปเมืองจีน


แล้วก็เอกสารสมัยสมเด็จพระนารายณ์ถึงพระเพทราชาที่มีต้นฉบับภาษาไทยเหลือ ฉบับฝรั่งเศสจะเขียน 'สยาม' แต่ฉบับภาษาไทยเขียน'ไทย' ไม่ก็เขียน 'กรุงศรีอยุทธยา' ทุกฉบับ ไม่มีคำว่า 'สยาม' ปรากฏในฉบับภาษาไทย

วรรณกรรมเก่าๆของสมัยอยุทธยาก็ใช้คำว่า 'ไทย' ตลอด อย่างวรรณคดียุคตันอยุทธยาอย่างลิลิตพระลอ "...ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประลัย ฝ่ายข้างไทยไชเยศ คืนยังประเทศพิศาล..."

หรืออย่าง นิราศ'ตนทางฝรังงเสษ' ที่เขียนโดยกวีที่ตามคณะทูตไปฝรั่งเศสกับออกพระวิสุทสุนธร(ปาน)ก็มี
'เมื่อจากบันตัม ใจพี่กระสัน รัญจวนกวนใจ
เห็นเมืองนี้เอย ดุจเห็นเมืองไทย แต่นี้จากไป ไกลเมืองแลนา'


จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๔ เริ่มใช้คำว่า 'สยาม' เรียกพระราชอาณาเขตอย่างเป็นทางการในภาษาไทย และเริ่มมีปรากฏใช้คำว่า ‘ชาวสยาม’ ‘กรุงสยาม’ ‘พระเจ้ากรุงสยาม’ ในภาษาไทย ควบคู่ไปกับคำว่า ‘ไทย’ ครับ



แต่ถึงจะใช้คำว่ากรุงไทยหรือคนไทย ที่สะท้อนว่าคนไทยสมัยโบราณมีสำนึกรับรู้ความเป็นชาติอยู่ในรัดับนึ่งว่ากลุ่มคนที่ใช้ภาษาเดียวกันมีวัฒนธรรมเหมือนกันเป็นชาติเดียวกัน แต่ความเป็น "รัฐชาติไทย" ที่ทุกคนในชาติมีสำนึกรับรู้ว่าทุกคนในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเป็นคนไทยร่วมเลือดเนื้อเดียวกัน และมีสำนึกว่าต้องปกป้องประเทศชาติซึ่งเป็นสถาบันหลักยังไม่น่าจะมีในอดีตครับ

สำหรับสุโขทัยกับอยุทธยา มีหลักฐานว่าทั้งสองใช้ภาษาไทยเหมือนกัน มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ในสมัยแรกๆ ก็ยังไม่ปรากฏว่าทั้งสองดินแดนคิดว่าอีกฝ่ายเป็น "คนไทย" เหมือนกันครับ จึงปรากฏว่ายังมีการทำสงครามกันอยู่แม้จะเป็นรัฐเครือญาติ แม้ว่าต่อมาอยุทธยาจะรวมสุโขทัยไว้ในอำนาจได้ แต่ความรู้สึกแตกต่างนั้นก็มีอยู่ จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าราชวงศ์พระร่วงเดิมคือพระมหาธรรมราชที่ครองเมืองพิษณุโลกกับอยุทธยา ซึ่งกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรุงศรีอยุทธยาเสียแก่หงสาวดี

แต่หลังจากนี้เข้าใจว่าความบาดหมางระหว่างเมืองเหนือกับเมืองใต้น่าจะหมดไป เพราะเมื่อพระมหาธรรมราชได้ครองกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระนเรศวรก็ได้ครองพิษณุโลก จึงไม่น่าจะมีปัญหากันอีก นอกจากนี้เพราะพลเมืองในกรุงถูกกวาดต้อนไปหงสาวดีมาก ทำให้ต้องมีการเทครัวหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาป้องกันพระนครเวลารับศึกหงสาวดี จึงน่าจะทำให้พลเมืองเหนือใต้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันในเวลาต่อมาครับ

ซึ่งเป็นราวสมัยอยุทธยาตอนกลางช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่พบหลักฐานการเรียกแผ่นดินว่า "กรุงไทย" ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทย (และยังมีลาวและมอญที่นับเป็นประชากรส่วนใหญ่) และใช้ภาษาไทยเป็นหลัก จึงสันนิษฐานว่าคนไทยในสมัยอยุทธยาน่าจะรับรู้ได้ว่าคนที่มีวัฒนธรรมเหมือนกันและใช้ภาษาเดียวกันเป็นคนไทยเหมือนกัน แม้ว่ารูปแบบความเป็นไทยในสมัยนั้นคงยังไม่เหมือนกับ "ประเทศไทย" ในปัจจุบันก็ตาม 

ซึ่งดินแดนที่มีคนไทยเป็นประชากรหลักอาณาเขตที่กรุงศรีอยุทธยามีอำนาจปกครองโดยตรง (ไม่นับประเทศราช) คือ ทางเหนือก็แค่ภาคกลางตอนบนคือบริเวณของรัฐสุโขทัยเดิม อีสานก็แค่แถบนครราชสีมา พิมาย ทางใต้ก็แค่นครศรีธรรมราช พัทลุง 


หัวเมืองอื่นๆ ที่เป็นประเทศราชอย่างล้านนา ล้านช้างบางส่วน รวมถึงภาคอีสานซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน อยุทธยาไม่เคยนับว่าเป็นชาติเดียวกับตนเอง แต่เรียกรวมๆ ว่า "ลาว" เช่นเดียวกับทางรัฐมลายูภาคใต้ที่ถูกเรียกว่า "แขก" ซึ่งก็ถูกเรียกเช่นนี้มาจนสมัยรัตนโกสินทร์ครับ


ล้านนานั้นแม้จะมีหลักฐานว่าเรียกตนเองว่า "ไท" โดยเป็นชาว "ไทยวน" แต่อยุทธยานับเป็น "ลาว" มาโดยตลอด ล้านนาเองก็เรียกดินแดนสุโขทัยและอยุทธยาที่อยู่ใต้ตนเองลงไปว่า "เมืองใต้" เป็นอีกดินแดนหนึ่ง (เหมือนกับที่อยุทธยาเคยเรียกดินแดนของสุโขทัยว่า "เมืองเหนือ") และยังคงเรียกสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แม้ว่าจะมีความพยายามผนวกหัวเมืองล้านนาเข้ากับการปกครองของสยามในยุคหลัง แต่ก็ยังมีความแปลกแยกในเรื่องเชื้อชาติอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ก็ยังปรากฏการเรียกคนล้านนาว่า "ลาว" อยู่ครับ

ล้านนาเองน่ามีความใกล้ชิดกับพม่ามากกว่าไทย เพราะว่าเคยตกเป็นประเทศราชของพม่าตั้งแต่ยุคหงสาวดีมาเกือบสองร้อยปี ซึ่งราชสำนักพม่าเองก็ได้ผนวกหัวเมืองของล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างสมบูรณ์ โดยตั้งให้เชียงใหม่และเชียงแสนเป็นเมืองที่ปกครองโดยข้าหลวง (เมียวหวุ่น-Myowun) ชาวพม่าโดยตรง ก่อนที่ชาวล้านนาจะกบฏต่อพม่าแล้วมาเข้ากับสยามในสมัยธนบุรี ซึ่งหลังจากนั้นก็คงจะมีความใกล้ชิดกับสยามมากขึ้น แต่ก็ยังเป็น "ลาว" ในสายตาไทยสยามอยู่ครับ

ในสมัยอยุทธยาถึงรัชกาลที่ ๔ ยังมีรูปแบบการปกครองดินแดนแบบอาณาจักรโบราณ คือมี "เจ้าเอกราช" หรือ "เจ้าอธิราช" (ในที่นี้คือพระเจ้าอยู่หัวกรุงศรีอยุทธยา) ซึ่งเป็นศูนย์กลาง โดยมีหัวเมืองใต้ปกครองอย่างหลวมๆ มีเจ้าประเทศราชทั้งหลายอย่างล้านนา ล้านช้าง กัมพูชา มลายูซึ่งอยู่ใต้บารมีของเจ้าเอกราช โดยมีพันธะด้วยการถวายบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองหรือองค์ประกัน โดยที่เจ้าเอกราชไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวเรื่องการปกครองหรือธรรมเนียมปฏิบัติภายใน เขตแดนของสยามไม่ได้มีแน่นอนและส่วนกลางยังไม่มีอำนาจในการบริหารหัวเมืองและประเทศราชที่ห่างไกลอย่างเด็ดขาดไพร่หัวเมืองอาจมีความผูกพันกับข้าราชการท้องถิ่นของตนมากกว่าส่วนกลาง

ในสมัยที่รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้เปลี่ยนสถานะจากอาณาจักรแบบโบราณเข้าสู่ "รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์" โดยดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางทั้งในการปกครองอาณาจักรและพุทธจักร เลิกระบบไพร่ทาสเพื่อลดอำนาจขุนนางดึงอำนาจสูงสุดเข้าสู่พระมหากษัตริย์ ผนวกหัวเมืองประเทศราชซึ่งเคยมีอิสระในการปกครองตนเองเข้ามาเป็นหัวเมืองของสยามโดยการตั้งมณฑลเทศาภิบาล ทำให้สถานะของ "ประเทศสยาม" (เข้าใจว่าเพิ่งมีคำนี้ในสมัย ร.๔-๕ จริงๆสมัยนั้นก็มีการเรียก 'ประเทศไทย' แล้ว แต่โดยทางการแล้วยังเป็น 'ประเทศสยาม') พัฒนาขึ้นเป็น "รัฐชาติ" ซึ่งมีเขตแดนชัดเจนและส่วนกลางสามารถมีอำนาจปกครองอย่างทั่วถึง

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ มณฑลเทศภิบาลถูกยุบเหลือแต่จังหวัดแบบในปัจจุบัน จนมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการออก "รัฐนิยม" เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติด้วยแนวคิดชาตินิยม ทำให้ชื่อประเทศจาก "ประเทศสยาม" กลายเป็น "ประเทศไทย" อย่างในปัจจุบัน ชนชาติทั้งหลายที่อาศัยอยู่ซึ่งตั้งแต่โบราณมีหลากหลายทั้งไทย ลาว มอญ เขมร ญวน จาม จีน ชวา มลายู ฯลฯ จึงถูกเปลี่ยนเป็น "คนไทย" ทั้งหมด ซึ่งก็น่าจะใกล้เคียงกับ "ประเทศไทย" หรือ "ชาติไทย" ในปัจจุบันที่สุดครับ 


ที่มา : http://www.soccersuck.com/boards/topic/1480226

Blogger Comment
Facebook Comment

:ambivalent:
:angry:
:confused:
:content:
:cool:
:crazy:
:cry:
:embarrassed:
:footinmouth:
:frown:
:gasp:
:grin:
:heart:
:hearteyes:
:innocent:
:kiss:
:laughing:
:minifrown:
:minismile:
:moneymouth:
:naughty:
:nerd:
:notamused:
:sarcastic:
:sealed:
:sick:
:slant:
:smile:
:thumbsdown:
:thumbsup:
:wink:
:yuck:
:yum:

loading...

Facebook

นิยม

บทความ

loading...