นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) เปิดเผยภายหลังนายอนันต์ วรธิติพงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เข้าหารือเรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะระบบแอดมิชชั่นส์ว่า ที่ประชุมได้เสนอความเห็นเรื่องสัดส่วนองค์ประกอบแอดมิชชั่นส์ อาทิ คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือจีแพค และคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ตจะทำให้เกิดปัญหาโรงเรียนกดเกรด ปล่อยเกรดได้ และจำนวนครั้งในการสอบวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT)จาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง ซึ่งได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้เคยนำมาประชาพิจารณ์กันหลายครั้งแล้ว และการแอดมิชชั่นส์เป็นหน้าที่ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมีมติชัดเจนแล้วว่าในปีการศึกษา 2553-2554 จะไม่มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบแอดมิชชั่นส์ใดๆ ทั้งสิ้น
รมช.ศธ. กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นได้เล่าถึงแนวคิดการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลระบบรับตรงให้กมธ.ฟังว่าได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ดำเนินการจัดตั้งองค์กรรับตรงเพื่อลดปัญหาไม่ให้เด็กวิ่งสอบ โดยจะรวบรวมกระบวนการรับตรงมาไว้ที่จุด ๆเดียว โดยขณะนี้สกอ.ได้รับฟังความคิดเห็นจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เกือบทุกกลุ่มแล้ว ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.)เหลือเพียงกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าวและต่อไป จะมีการไปรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง นักวิชาการ และผู้ที่สนใจด้วย เพื่อให้การดำเนินการเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย ทั้งนี้ หลักการในการจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลระบบรับตรงนั้น ได้มอบนโยบายไว้ว่า ใครจะเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น สกอ. แต่อย่างน้อยจะต้องมีจุดกลางให้นักเรียนที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัย และไม่อยากแอดมิสชั่นได้มีโอกาสใช้ช่องทางสมัครคัดเลือกในระบบรับตรงได้อย่างสะดวก ประหยัด และมีความโปร่งใส โดยตั้งเป้าว่าระบบนี้จะสามารถดำเนินการให้ได้ในปีการศึกษา 2554