ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำนโยบายการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2553 ว่า คณะทำงานจัดทำแนวปฏิบัติได้เสนอแนวทางมาให้ตนพิจารณาแล้ว ซึ่งการรับนักเรียนจะยังยึดแนวปฏิบัติเดิมของปี 2552 เป็นส่วนใหญ่ อาทิ การรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนเปิดสอบทั่วไปได้สูงสุด 50% และอีก 50% จะเป็นการจับสลากในเขตพื้นที่บริการและพิจารณาผลการเรียน เป็นต้น ส่วนข้อเสนอที่จะให้เพิ่มการสอบวิชาภาษาอังกฤษในการสอบคัดเลือกเข้า ม.1 แต่ไม่นำคะแนนมาพิจารณาเพื่อต้องการดูมาตรฐานของเด็กไทยนั้น ตนได้มอบหมายให้คณะทำงานไปปรับปรุงใหม่ เพราะเห็นว่าหากไม่นับคะแนนก็อาจเป็นภาระของผู้ปกครองกับโรงเรียนได้ ดังนั้นในการสอบคัดเลือกจะยังคงสอบ 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา
เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลง คือ การรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยนักเรียนที่เรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และต้องการเรียนต่อชั้นม.4 ในโรงเรียนเดิมให้ทางโรงเรียนพิจารณาจากศักยภาพทางวิชาการที่เหมาะสมและให้กำหนดเกรดเฉลี่ย 2.00 แต่กรณีโรงเรียนที่มีความจำเป็นก็ให้กำหนดเกรดเฉลี่ยไม่เกิน 2.50 แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบคณะกรรมการสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งในปีที่ผ่านมาสพฐ.ไม่ได้กำหนดในส่วนนี้ไว้ทำให้โรงเรียนกำหนดเกรดเฉลี่ยที่สูงส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนต่อในระดับชั้นม.4 ในโรงเรียนเดิม ส่วนการนำผลคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ตมาพิจารณาคัดเลือกเข้าเรียนจะให้เป็นดุลพินิจของทางโรงเรียน
“สำหรับปฏิทินการรับนักเรียนในระดับชั้น ม.1 ประเภทความสามารถพิเศษรับสมัคร 13-14 มี.ค. 2553 ประเภทสอบคัดเลือก รับสมัคร 13-17 มี.ค.และจับสลากในเขตพื้นที่บริการ 13-17 มี.ค. ส่วนชั้นม.4 รับสมัคร 13- 17 มี.ค.อย่างไรก็ตามแนวปฏิบัติทั้งหมดนี้จะต้องเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป” ดร.ชินภัทร กล่าว.
ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์