ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทศ.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายการอุดมศึกษา" ในการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ตอนหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ถือเป็นสถาบันหลักที่จะต้องชูธงขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สองให้เป็นรูปธรรม โดยจะจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต สร้างโอกาส และความเสมอภาค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน และที่สำคัญมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องสอนคนให้มีงานทำ และพัฒนาอาชีพของคนที่มีงานทำแล้วให้มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำไปสู่การสร้างผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอธิการบดีหลายแห่งมีความกังวลเรื่องงบประมาณสนับสนุน ม.วิจัย ซึ่งขอยืนยันว่ารัฐบาลจะยังคงสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้งบฯ กำลังอยู่ในกระบวนการของการพิจารณาของรัฐสภา โดยที่ผ่านมาตนได้หารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขอให้ช่วยเร่งของบฯ จากโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หรือ SP 3 และจะของบฯ ปี 2554 มาสนับสนุนเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วย นอกจากนี้ตนอยากเห็นแต่ละมหาวิทยาลัยมีกองทุนเป็นของตนเอง โดยการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยดังระดับโลก ที่มีเงินกองทุนเพื่อพัฒนาการศึกษาถึงแสนล้านบาท จึงถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยต้องเชิญชวนศิษย์เก่า ผู้ประกอบการ และผู้ปกครอง มาเข้าร่วมในการมีส่วนร่วมต่อการจัดการศึกษา
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนห่วงมากคือขณะนี้มหาวิทยาลัยเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ จำนวนมากกว่า 1,700 และมีหลายสาขาที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น สกอ.จะต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมหรือไม่ในการเปิดการเรียนการสอน ไม่ใช่เน้นเฉพาะธุรกิจการศึกษาเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นต้องมีระบบประกันคุณภาพการศึกษา โดยตนได้มอบนายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัด ศธ. ประสานกับ สกอ. เพื่อให้ผู้ตรวจราชการ ศธ. เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริม ติดตาม และประเมินผลมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อดูภาพรวมทั้งหมดไม่ใช่ดูผลประเมินภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) หรือผลสัมฤทธิ์ของเด็กเท่านั้น
"ผมอยากเห็นการเชื่อมโยงระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา ซึ่งผมไม่เห็นด้วยที่จะเร่งรัดให้อาชีวะเปิดสอนในระดับปริญญาตรี แต่เห็นด้วยที่จะให้เปิดสอนในระดับปฏิบัติการขั้นสูง แต่ต้องเป็นกลุ่มสถาบันที่มีความพร้อม และมีศักยภาพ อยากให้ สกอ.ไปช่วยคิดว่าจะเชื่อมรอยต่อในเรื่องนี้ได้อย่างไร สำหรับการสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT นั้น ตนอยากให้ ทปอ.กลับไปทบทวนจำนวนครั้งของการสอบให้เหลือปีละ 2 ครั้ง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และลดการกวดวิชาเพื่อคืนเด็กสู่ห้องเรียน" นายชินวรณ์กล่าว.
ที่มา