ประชาสัมพันธ์

เลือกอันดับในระบบรับตรงจุฬาฯอย่างไรไม่ให้พลาด




สวัสดี น้องๆ ว่าที่นิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคนครับ

ก่อนอื่น ขอเป็นกำลังใจสำหรับน้องๆ ที่จะกำลังซื้อตั๋วยื่นคะแนนเข้ามาเป็นนิสิตในพระปรมาภิไธย "จุฬาลงกรณ์" ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อตามความฝันอันยิ่งใหญ่ทุกคนเลยนะครับ คำแนะนำของพี่ต่อไปนี้จะทำให้น้องๆ ม.6 เลิกกลัวและเครียดน้อยลงแน่นอน เพราะพี่รู้สึกว่าน้อง ม.6 มองโลกในแง่ร้ายจัง คิดอะไรซะโหดร้าย กลัวว่าจะเส้นเลือดในสมองแตกก่อนจะมาเป็นนิสิตจุฬาฯ จึงมีข้อแนะนำที่น้องๆ ควรทราบ และให้กำลังใจเพื่อสู้ต่อไปนะครับ


คำถามที่น่าคิด
1. การเลือกรูปแบบ และรหัสต่างๆ ในระบบรับตรงมีผลต่อการเลือกสาขาวิชาหรือไม่
2. ต้องเลือก 4 อันดับเลยหรือเปล่า จะเอาอันไหนขึ้นก่อนดี
3. ทำยังไงดี คะแนนน้อย รับก็น้อย คนเลือกก็เยอะ
4. ประมวลผลคะแนนอย่างไร
5. จะประกาศผลรอบแรกกี่คน
6. การสอบสัมภาษณ์น่ากลัวมั้ย

คำถามเหล่านี้น้องๆ สามารถศึกษาได้ด้านล่างอย่างละเอียดเลยจ้า




ม.6 แอดมิชชันส์ระบบใหม่รุ่นแรก
"ความโชคดีบนความโชคร้าย จงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส"


น้องๆ รุ่นนี้
อย่าเพิ่งคิดว่าน้องโชคร้ายเสมอไป เพราะ
1. แอดมิชชันส์รุ่นแรกจะไม่มีคะแนนต่ำสุดของปีก่อนเทียบ เหมือนกับแอดมิชชั่นส์ปี 2549
2. เด็กก็จะมีอิสระในการเลือก มักจะเลือกคณะที่อยากเรียนจริงๆ เพราะถ้ามีคะแนนต่ำสุดปีที่แล้วมาเทียบ เด็กก็จะเห็นว่าตัวเองไม่ถึงคณะที่อยากเรียน เลยมาเรียนคณะนี้แทน อาจจะอยากเรียนเหมือนกัน หรือแบบว่าขอให้ได้เรียนจุฬาฯ เช่น อยากเรียนอักษรศาสตร์ ต่ำสุดปีที่แล้ว 7600 ตัวเองได้ 7100 ไม่กล้าเลือก เลยเลือกครุศาสตร์แทน เป็นต้น น้องกลุ่มนี้มีมาก แต่มักไม่ค่อยเจอในแอดมิชชันส์รุ่นแรกเลย ดังนั้นคะแนนที่น้องคิดว่าจะสูงเวอร์ๆ อาจจะต่ำกว่าที่คิดไว้

ตัวอย่าง แอดมิชชั่นส์ ปี 2549 คะแนนต่ำสุดที่สามารถเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ คือ 3810.4 / 10000 ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

ดังนั้น
คะแนนต่ำ อย่าไปเครียด อย่าไปท้อ อย่าไปสนใจ เราเด็กแอดมิชชั่นส์ระบบใหม่รุ่นแรก ต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คือ เลือกไปเลย ถ้าเป็นความใฝ่ฝันของเราจริงๆ ถ้ากลัว ไม่เลือก แล้วพอผลออกมา ตัวเองคะแนนถึง นี่รู้สึกแย่ยิ่งกว่าเลือกแล้วไม่ติดอีกนะ




เลือกอันดับอย่างไรไม่ให้พลาด

1.
สำรวจตัวเองก่อนเลยว่า เราชอบเรียนทางด้านไหนมากที่สุด ถนัดอะไร ม.6 แล้วหนูต้องหาให้ได้นะ อย่าคิดเพียงว่า เรียนได้อยู่ละ หรือคิดเพียงว่าให้ติดจุฬาฯ เรื่องเรียนค่อยไปเริ่มต้นใหม่ หลายคณะย่อมไม่เป็นแบบนั้น เพราะเราต้องมีพื้นความรู้มาก่อน ความรู้ไม่มี แต่ถ้าเราชอบเรียน มีความมุ่งมั่น มีความฝัน แน่นอนหนักยังไงก็ทำได้ ทำอะไรในสิ่งที่ชอบมันย่อมสำเร็จเสมอ และอย่าลืมว่าสิ่งที่จะตัดสินใจเรียนไปอย่างน้อย 4 ปีเนี่ย มันเป็นอนาคตทั้งชีวิตของเราได้เลย หากเลือกเรียนในสิ่งที่ไม่ได้ชอบจริงๆ มันอึดอัดนะ เช่น สังคมไทยยกย่องการเป็นหมอ เราก็เก่ง อ่ะ เลือกแพทย์ ปรากฏไม่ชอบการบริการ อยู่กับอาการป่วยของคนก็ไม่ชอบ ไม่พึงประสงค์ ชีวิตจบเลยครับ 6 ปี ต้องทน ไม่งั้นก็จะนิสิตจุฬาฯ หลายคนที่ต้องกลับไปสอบ GAT&PAT กับรุ่นน้อง เพราะคิดผิดที่เลือกมาโดยคะแนนถึง ชื่อเสียงคณะ เรียนมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่ตนเองกลับยังไม่รู้ว่าชอบเรียนหรือไม่ ดังนั้น หาตัวเองให้เจอ ก่อนที่จะสมัครนะครับ

2.
ศึกษาข้อมูล
- เมื่อค้นพบสิ่งที่ใช่สำหรับเราแล้ว ลองไปศึกษาข้อมูลดูครับว่า คณะที่เราชอบ ถนัด และสนใจอยากศึกษาต่อเนี่ย มันเปิดสาขาวิชาอะไรบ้าง เราเหมาะที่จะเรียนสาขาวิชาไหน แล้วจะเข้าสาขาวิชานั้นได้ ต้องสอบเข้ามายังไง มีรับตรง มีแอดมิชชั่นส์ อย่างไร เลือกรหัสไหน รูปแบบไหนเข้ามา เพราะมีบางรูปแบบ บางรหัสที่นำคะแนนรับตรงและแอดมิชชั่นส์ไปคัดเลือกเข้าสาขาวิชา เช่น คณะครุศาสตร์ หากเราศึกษาข้อมูลไว้ก็จะได้เลือกยื่นคะแนน เลือกอันดับไม่พลาดนะครับ

น้องๆ ลองหาข้อมูลขั้นต้นได้ที่ http://www.chula.ac.th/faculty/thai/az.htm#1


3.
หลักการเลือกอันดับ
1. สนใจเรียนคณะไหน สาขาวิชาไหน อยากเรียน เป็นความใฝ่ฝันจริงๆ เลือกไว้อันดับ 1 เลยครับ อย่าได้แคร์คะแนน คนอื่นจะคะแนนสูง รับจะน้อยเพียงใด ขอแค่เราเลือกเพื่อโอกาสอันมีค่าแม้จะน้อยนิดก็ตาม เราต้องเข้มแข็ง และสู้นะ

สมมติ จะเข้าคณะอักษรศาสตร์ ได้ 65% เห็นเพื่อนมาโพสต์คะแนน 75% อย่าไปเครียด อย่าไปกลัว ต้องเลือกเท่านั้น โอกาสถึงจะมากจะน้อย นี่ก็เป็นความฝันของเรา มีเหตุการณ์แอดมิชชันส์เกิดขึ้นบ่อย ที่ว่าคนกลัวคะแนนสูง เลยไม่เลือก แล้วคะแนนดันตกวูบ พอไม่ได้เลือกก็มาเสียใจทีหลัง เช่น คณะนิติศาสตร์ ปี 2551 คะแนนต่ำสุดรูปแบบภาษาญี่ปุ่นแค่ 5300เพราะเด็กดูคะแนนต่ำสุดปีก่อนมันสูงลิ่วเลยไม่กล้าเลือก เป็นไงครับถ้าไม่เลือกเสียดาย ปละเจ็บใจมาก ดังนั้นเลือกไปเลย อย่าได้แคร์

2. อันดับ 2 ควรเป็นคณะ หรือสาขาวิชาที่พอจะเรียนได้ ชอบในระดับหนึ่งรองลงมา แนะนำว่าความสนใจอะไรก็ตาม หากต้องมาแข่งขันกันแบบนี้ เราต้องมีแผนสำรองครับ
3. อันดับ 3-4 ควรเป็นคณะที่เรียนได้ ไม่ใช่เลือกไว้ให้อันดับมันเต็มนะ เลือกอะไรที่เรียนได้ แล้วคะแนนของเรามีความเป็นไปได้ว่าน่าจะติด

ดังนั้น
ไม่จำเป็นต้องเลือกทั้ง 4 อันดับ เลือกเฉพาะที่ตนเองสนใจ และชอบสามารถเรียนได้ เพื่อที่จะให้โอกาสคนอื่นที่เค้าอยากเรียนจริงๆ สนใจแค่ 2 สาขาวิชา/คณะ ก็เลือกแค่ 2 อันดับ เป็นต้น เพราะอย่างไรแล้วถ้าติดอันดับ 4 ที่เลือกไว้ แต่เราไม่คิดจะเอา ก็สงสารคนที่เค้าตั้งใจที่จะเข้าคณะนั้นเถอะครับ เหลือที่ไว้ให้เพื่อนดีกว่า




"สมัครเพราะอยากติดจุฬาฯ อยากเรียนคณะที่มีชื่อเสียง" แต่ไม่ได้ชอบจริงๆ รับรองอนาคตไม่สดใส
มีตัวอย่างรุ่นพี่หลายคนครับที่มาเรียนในสถาบันนี้เพราะชื่อเสียง มีความภูมิใจแค่เพียงว่า "อ๋อ เรียนจุฬาฯครับ" แต่ถ้าถามว่า "เรียนคณะนี้จบมาจะไปทำงานอะไร" ก็จะได้รับคำตอบว่า "ไว้ค่อยคิด" มันอาจจะแสดงว่าเรายังไม่มีจุดหมายสำหรับตนเอง ซึ่งอนาคตไม่สดใสเลย เพราะ

1.
ติดรอบแรก น้องต้องเข้าสอบสัมภาษณ์ ถ้าคนรักที่จะเรียน ก็จะไม่เครียด เพราะสิ่งที่จะไปพูด ไปแสดงต่ออาจารย์กรรมการ นั่นคือ ตัวตนของเรา แต่คนที่ไม่ได้ชอบ หนูก็จะอึดอัดที่จะต้องพูดอะไรที่อาจจะไม่ใช่อย่างคิด อาจารย์กรรมการท่านมีประสบการณ์ในวิชาชีพสูง หนูหลอกได้ไม่ง่ายหรอก ท่านรู้แต่ไม่พูดเฉยๆ

2.
เข้าไปเรียน น้องก็จะเจอกลุ่มเพื่อนส่วนใหญ่ที่รักในวิชาชีพที่เรียน ชอบในคณะที่เรียน คนกลุ่มใหญ่เหล่านี้มีทัศนคติที่เหมือนกัน มีความมุ่งมั่นใฝ่ฝันเหมือนกัน แต่เราอาจไม่ใช่ เราก็กลายเป็นคนส่วนน้อย เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะคุยกันคนละเรื่อง คนละอารมณ์ กลายเป็นคนเพื่อนน้อย

3.
การเรียน แม้ว่าเราจะเก่งขนาดไหน แต่เรียนเพียงใช้สมองอันล้ำเลิศ มันก็สู้การเรียนที่ใช้ใจไม่ได้ น้องก็จะรู้สึกเบื่อ ไม่ชอบ และทำได้ไม่ดีเต็มศักยภาพของตนเอง

พี่อยากจะบอกน้องแค่ว่า
"เราสามารถหลอกคนอื่นได้ทั้งชีวิต แต่ในชีวิตของเราไม่สามารถหลอกตัวเองได้" อย่าเลือกเรียนเพื่อชื่อเสียง ไปตามความฝันของเราดีกว่า




เลือกให้เต็ม 4 อันดับ เลือกให้แค่ได้ชื่อว่าติดจุฬาฯ แต่อาจไม่เอา
การตัดโอกาสผู้อื่นโดยการทำลายความหวังของคนทางอ้อม ถือว่าเป็นบาปนะครับ ความเสียสละและเห็นแก่ผู้อื่น เป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ปุถุชนควรพึงมีในฐานะของปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาที่ดีหากเราไม่ได้หวังจะเรียนในคณะนี้ สาขานี้ ขอเถอะครับ อย่าเลือกเพื่อให้มันเต็ม 4 อันดับ หรือเลือกเพื่อให้เป็นเกียรติประวัติเลยว่า "ครั้งหนึ่งฉันติดจุฬาฯ" แต่น้องอาจไม่คิดว่า "ครั้งหนึ่งฉันได้ทำลายโอกาสและความหวังของหนึ่งคนไป" เพราะการที่เลือกทั้งๆ ที่รู้จะไม่เรียน จะสละสิทธิ์ แต่ก็เลือก หากมันเป็นความฝันของน้องที่อยากเรียนคณะนี้แบบนี้เลือกไปเถอะครับ แต่ถ้าไม่ได้ชอบ เลือกไปงั้นๆ ติดก็สละสิทธิ์ ก็อย่าทำบาปเลยดีกว่า

พระพุทธศาสนาเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรม
"กรรมใดใครสนอง กรรมนั้นย่อมคืนสนอง" ไม่วันนี้หรือวันข้างหน้า ไม่กับตัวเองก็คนรอบข้างที่มารับกรรมต่อจากเรา

น้องลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา น้องอยากเรียนคณะนี้มา แต่พอผลอออกมา น้องกลับขาดไปอีกคะแนนเดียว แต่มารู้ว่ามีหลายคนสละสิทธิ์ แล้วคณะไม่เลื่อนอันดับ น้องจะรู้สึกอย่างไร

นี่ไม่ใช่สนามสุดท้าย น้องยังมีโอกาสอีก อย่างน้อยก็แอดมิชชั่นส์ หากไม่ชอบก็อย่าเลือกเลยเถอะครับ




ระบบรับตรงปกติ จุฬาฯ กำหนดผลการเรียนเฉลี่ยขั้นต่ำหรือไม่
ตอบว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่กำหนดครับ จะมีเพียงคณะวิทยาศาสตร์ (3.00) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (3.00) และคณะนิเทศศาสตร์ (3.25)

Unigang : แนะนำให้อ่านระเบียบใหม่ทั้งหมด จะได้ไม่พลาด http://pics.unigang.com/icon/1.jpg

สังเกตง่ายๆ คือ

การรับตรง หรือระบบแอดมิชชั่นส์ ที่มีการให้ผู้สมัครเลือกอันดับคณะหรือสาขาวิชาในการคัดเลือกมักจะไม่มีการกำหนดผลการเรียนเฉลี่ยสะสมขั้นต่ำ เพราะเป็นการ
ยากที่จะประมวลผลทุกคณะ หากเลือกไว้ 4 อันดับ หลายสาขาวิชา หลายอันดับ ก็ต้องมีเกรดขั้นต่ำที่แตกต่างกันไป มันลำบากในการที่ระบบจะคัดกรองคุณสมบัติผู้สมัคร และประมวลผล

แต่การรับตรงที่ให้ผู้สมัครสมัครโครงการเดียว สาขาวิชาเดียว สามารถกำหนดผลการเรียนเฉลี่ยสะสมขั้นต่ำได้ครับ เพราะง่ายต่อการคัดกรอง และคัดเลือก




จะสมัครรับตรงปกติ จุฬาฯ จำเป็นต้องสอบวิชาเฉพาะที่จุฬาฯ จัดสอบหรือไม่
ตอบว่า ไม่จำเป็นทุกคณะ หรือทุกสาขาวิชาครับ เพราะส่วนใหญ่แล้วใช้เพียงคะแนน GPAx GAT และ PAT ที่จัดสอบโดยสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) เท่านั้น เราสามารถใช้คะแนนที่สอบไปสมัครคัดเลือกได้เลย

ยกเว้น บาง
คณะต่อไปนี้ที่ต้องสอบวิชาเฉพาะไว้ก่อน ถึงมีสิทธิ์สมัครคัดเลือก
1. คณะวิทยาศาสตร์ ทุกสาขาวิชา
2. คณะครุศาสตร์
- จฬ 051 ที่เลือกใช้แบบทดสอบความรู้พื้นฐานทั่วไป (ภาษาไทย-สังคมศึกษา) ยื่นเข้าคัดเลือก
- สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
- สาขาวิชาศิลปศึกษา
- สาขาวิชาดนตรีศึกษา
3. คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาวารสารสนเทศ
4. คณะศิลปกรรมศาสตร์ ทุกสาขาวิชา




การรับรวม คือ อะไร
การรับรวม คือ การคัดเลือกที่ไม่ได้ระบุเข้าสาขาวิชา แต่เป็นเพียงเปิดโอกาสให้ผู้สมัครเลือกใช้วิชาที่สอบได้คะแนนดีที่สุด หรือถนัดที่สุด ยื่นคะแนนเข้ามา และจะมีการคัดเลือกนิสิตเข้าสาขาวิชาภายหลังด้วยวิธีต่างๆ ตามความประสงค์ของแต่ละคณะ

คณะที่เปิดรับรวม ได้แก่
1. คณะจิตวิทยา
2. คณะอักษรศาสตร์
3. คณะครุศาสตร์

สังเกตง่ายๆ ว่าคณะเหล่านี้ไม่ได้ระบุสาขาวิชาชัดเจน อาจจะใช้ชื่อคณะเป็นชื่อสาขาวิชา หรือใช้เพียงคำว่า "สอบวิชา" น้องๆ อย่าเข้าใจผิดว่า สอบวิชาไหนเข้ามาแล้วจะได้เรียนในสาขาวิชานั้น ไม่ใช่นะครับ บางคณะต้องมีการคัดเลือกด้วยวิธีต่างๆ อีกครั้ง

แล้ว
คณะอักษรศาสตร์ กับ คณะครุศาสตร์ มีวิธีการรับรวมที่น้องๆ หลายคน เข้าใจผิด คือ
น้องๆ จะเห็นว่าจำนวนรับในแต่ละวิชาจะไม่แยกว่า สอบวิชานี้รับกี่คนๆ จะเป็นก้อนเดียว เช่น
- อักษรศาสตร์ รูปแบบศิลป์ รับ 220 คน
- ครุศาสตร์ รูปแบบศิลป์ รับ 90 คน
แล้วให้เลือกยื่นวิชาที่สอบ

น้องๆ จะเข้าใจว่า 220 คน หรือ 90 คน เค้าน่าจะดูสัดส่วนคนสมัครว่าวิชาไหนสมัครเยอะก็รับเยอะตามสัดส่วน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดครับ

ระบบจะให้โอกาสเรายื่นคะแนนวิชาที่ได้สูงสุด หรือวิชาที่เราสอบ แต่การประมวลผล เค้าจะเอาคะแนนที่เลือกยื่นของทุกวิชามารวมกันเป็นก้อนเดียว แล้วตัดมา 220 หรือ 90 เลยครับ





วิธีคิดคะแนน
จากที่สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำโปรแกรมคำนวณคะแนนในระบบรับตรงปกติ ก็พบว่าคะแนนเต็ม 30,000 คะแนนครับ และใช้คะแนนดิบครับ คือ ได้คะแนน GAT&PAT มาเท่าไหร่ก็ตามนั้น ไม่ปรับเป็นคะแนนมาตรฐานอีก

น้องๆ สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้คำนวณได้ง่ายๆ ที่
http://www.it.chula.ac.th/announcement/779




การสมัคร ทำไมไม่มีให้กรอก คะแนน GAT&PAT แล้วจะรู้เหรอว่าเค้าจะเอาคะแนนสอบที่ดีที่สุดของเราไปประมวลผล
น้องๆ ไม่ต้องกลัวครับ เพราะระบบรับตรงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประสานงานกับ
1. สำนักงานทดสอบทางการศึกษา (สทศ) เพื่อขอรับฐานข้อมูลคะแนน GAT&PAT ของผู้สมัครรับตรงทุกคน ทั้ง 3 รอบ
2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เพื่อขอรับฐานข้อมูลผลการเรียนเฉลี่ยสะสมของผู้สมัคร
3. สำนักทดสอบแห่งจุฬาฯ เพื่อขอรับคะแนนวิชาเฉพาะที่บางคณะบางสาขาใช้ในการคัดเลือก

ดังนั้น
จุฬาฯ จะมีฐานข้อมูลคะแนนครบทุกอย่างที่เป็นของเรา เราไม่ต้องกรอก ถึงกรอกไปจะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่ได้โกหก ยังไงเค้าต้องไปขอฐานข้อมูลมาใช้ประมวลผลอยู่ดี

ส่วนระบบจะเลือกคะแนนสอบอย่างไร
ระบบจะดึงคะแนนของรอบที่เราได้คะแนนสูงที่สุดมาประมวลเอง เพราะระบบมีข้อมูลคะแนนของเราทุกรอบครับ เช่น สอบ GAT PAT1 PAT2 และ PAT3 ทั้งสามครั้ง ก็ดึงรอบที่สูงสุดในแต่ละวิชามา เช่น GATตุลา PAT1มีนา PAT2กรกฎา PAT3มีนา เป็นต้น ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้รอบเดียวกันทั้งหมดนะครับ มันแยกได้




วิธีการประมวลผล
น้องๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่า 4 อันดับที่เลือกไปแล้วเค้าประมวลผลอย่างไร ทำไมคะแนนติดกันแต่เราเลือกอันดับ 1 ไม่ติด คนเลือกอันดับ 2 ติดซะงั้น วิธีเป็นเช่นนี้ครับ

1. พิจารณาอันดับ 1 จัดเรียงอันดับจะสูงไปต่ำใน list ตามจำนวนรับ ดังนั้นก็จะมีคนที่เลือกอันดับ 1 แล้วคะแนนไม่ถึงตามจำนวนรับ ไม่อยู่ใน list

ที่นี้ล่ะครับ มันจะเกิดเหตุการณ์เหยียบให้จมดิน

2. พิจารณาอันดับ 2 ก็จะเอาคะแนนคณะอันดับ 2 ไปแทรก list อันดับ 1 ที่จัดไว้ตามจำนวนรับ ดังนั้นยิ่งแทรกมาก คนทีเลือกอันดับ 1 แล้วมีอันดับอยู่ท้าย list ในขั้นที่ 1 ก็ถูกคนกลุ่มอันดับ 2 ที่ไม่ติดอันดับ 1 มาแทรกอันดับบนใน list จนตก list ไปในที่สุด

3. พิจารณาอันดับ 3 ก็เอาคนที่ถูกเบียดตกจาก list หรือไม่ถูกพิจารณาคะแนนทั้ง 2 รอบมาดูอันดับ 3 แล้วจับแทรกอันดับใน list อีก ก็จะมีคนที่ตก list มา

4. พิจารณาครั้งสุดท้ายครับ อันดับ 4 ถ้าถูกเบียดตก หรือไม่ได้รับการพิจารณาก็พลาดการคัดเลือกในที่สุด

ดังนั้นถ้าติดอันดับ 1 ตั้งแต่แรก แล้วอยู่อันดับบน list เช่น นิติศาสตร์ ได้ 9100 ต่อให้ผ่าน 4 ขั้น จะถูกคนอื่นแทรกยังไงก็ไม่ตก list แน่นอน กลายเป็นเทวดา นางฟ้า บน list อยู่วันยังค่ำ

แต่ถ้าเราอยู่ท้ายๆ list ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ก็จงภาวนาว่าอย่าให้คนอื่นมาเบียดจนตก list ไป




วันไหนแน่ที่รู้ว่า "ติดจุฬาฯ แล้ววววว"
น้องๆ บางคนดูกำหนดการอาจจะสับสน และไม่รู้ว่า วันไหนแน่ที่รู้ว่าติดจุฬาฯ จริงจัง
- 21 ธันวาคม ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าคัดเลือก = นี่ไม่ใช่ประกาศผลคัดเลือกแต่อย่างใด แต่เป็นการประกาศรายชื่อผู้สมัครทั้งหมด และแสดงข้อมูลการสมัครว่า ระบบรับตรงยืนยันแล้วว่าคุณมีคุณสมบัติครบที่จะเข้าสู่ระบบการคัดเลือก

- 4 มกราคม ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ = นี่แหละ มีชื่อวันนี้ ติดจุฬาฯ 99%ยกเว้นว่า ไม่ไปสอบสัมภาษณ์ในวันที่ 11 มกราคม หรือไปสอบสัมภาษณ์แล้วไปป่วงใส่อาจารย์กรรมการแบบเกินที่จะรับได้ ซึ่งน้อยมากๆ (เหตุผลที่ไม่คัดผู้สมัครออกในการสอบสัมภาษณ์มีระบุในหัวเรื่องต่อไป)

- 19 มกราคม ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา = เป็นการการันตีว่า มีสิทธิ์เป็นนิสิตจุฬาฯ แล้ว ถ้ายืนยันสิทธิ์วันที่ 27 มกราคม ก็เป็นอันสมบูรณ์
Congratulation




ประกาศรายชื่อรอบแรกกี่คน แล้วจะคัดออกรอบสัมภาษณ์หรือไม่
ตามธรรมเนียมของระบบที่มีการเลือกอันดับยื่นคะแนน จะประกาศผลรอบแรกตามจำนวนรับ หรือเกินมาไม่มาก แล้วการสอบสัมภาษณ์ก็เพียงสอบถามข้อมูลความสนใจ และตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบความพร้อม และดูทัศนคติเท่านั้น เช่น ระบบแอดมิชชั่นส์ หรือแม้กระทั่งระบบรับตรงปกติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หากประกาศผลมา 200 คน แล้วคัดรอบสัมภาษณ์ให้เหลือ 100 คน ย่อมไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ได้คะแนนสูง แต่มาตกรอบสัมภาษณ์

สังเกตจากการประกาศผลรอบแรกที่รับมาจำนวนหนึ่ง แล้วคัดออกรอบสัมภาษณ์มักจะให้ผู้สมัครสมัครเพียงโครงการเดียว เช่น ระบบรับตรงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น




สอบสัมภาษณ์น่ากลัวมั้ย
เป็นตัวเองให้มากที่สุดครับ คิดอย่างไรบพูดไปตามตรง แต่ถ้าเรื่องที่คิดมันเกินกว่าที่คนปกติจะรับได้ ก็สงวนไว้ดีกว่าครับ

คำถามที่มักจะพบเจอในการสอบสัมภาษณ์
- แนะนำตัวเอง
- ข้อมูลการศึกษา
- สิ่งที่สนใจ
- สภาพครอบครัว รายได้ ความจำเป็นต่างๆ
- แสดงเหตุผลที่ต้องการศึกษาต่อในคณะนี้
- ตั้งโจทย์ตุ๊กตาถามทรรศนะตามบริบทของแต่ละสาขาวิชา เช่น คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจจะถามความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา เป็นต้น
- คำถามท้าทาย เช่น มันหนักนะ ต้องเจอสิ่งนี้นะ จะไหวเหรอ
- การปรับตัวเข้าสู่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น ที่อยู่อาศัย การเดินทาง
ทั้งนี้ การสอบสัมภาษณ์ที่ไม่คัดออก ตอบได้เป็นพอ ไม่ต้องเครียดว่าให้ดีเลิศ ตราตรึงใจอาจารย์กรรมการ พยายามทำเหมือนว่าเค้าชวนเราคุย เราก็คุยด้วยอาการปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ภาษากึ่งสนทนา เหมือนเราคุยกับผู้ใหญ่

สิ่งที่ลืมไม่ได้ในการสอบสัมภาษณ์
- เอกสารทุกอย่างที่เค้ากำหนด เตรียมมาให้ครบ
- แฟ้มสะสมงาน เฉพาะผลงานที่น่าภาคถูมิใจ กิจกรรมที่เข้าร่วม การบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม หรือประกาศนียบัตร
- บุคลิกภาพ มารยาทควรสำรวม ใครเป็นไฮเปอร์ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว พยายามฝึกให้อยู่นิ่ง
- สมาธิ อย่าประหม่า อย่าตื่นเต้น อาจารย์กรรมการไม่ได้ถือมีดไว้รอ แต่ท่านเพียงแต่ถือปากกาจดข้อมูลที่จำเป็นของเรา เพื่อเป็นฐานข้อมูล หรือให้ได้รับการช่วยเหลือต่อไปเท่านั้น
- รอยยิ้ม และมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การพูดเป็นสิ่งสำคัญ อย่าใช้ภาษาวัยรุ่น และให้เกียรติอาจารย์กรรมการ
- ไปลามาไหว้ สำคัญมากๆ ครับ ห้ามลืมเด็ดขาด



ท้ายที่สุด
พี่เป็นกำลังใจให้น้องๆ ม.6 "รุ่นน้องหนูน่าทดลอง" ทุกคนนะครับ อยากจะบอกว่าจงเชื่อมั่นในสิ่งที่เรามุ่งหวัง และให้โอกาสตนเองด้วยกำลังใจที่เต็มเปิ่ยมกำลังใจจากตัวเองยิ่งมีมาก ความฝันของเราก็จะเป็นจริงมากเท่านั้น และถ้าหากผิดหวังเราก็จะลุ้นขึ้นสู้ใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง

สู้สู้ครับน้องๆ พี่จะรอรับน้องๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

See you @ CU

Credit http://my.dek-d.com/koppersquib

Blogger Comment
Facebook Comment

:ambivalent:
:angry:
:confused:
:content:
:cool:
:crazy:
:cry:
:embarrassed:
:footinmouth:
:frown:
:gasp:
:grin:
:heart:
:hearteyes:
:innocent:
:kiss:
:laughing:
:minifrown:
:minismile:
:moneymouth:
:naughty:
:nerd:
:notamused:
:sarcastic:
:sealed:
:sick:
:slant:
:smile:
:thumbsdown:
:thumbsup:
:wink:
:yuck:
:yum:

loading...

Facebook

นิยม

บทความ

loading...