ประชาสัมพันธ์

กวดวิชาเกินชั้นเรียนจำเป็นหรือแค่แฟชั่น

Pic_58490
ลำพังเนื้อหาในโรงเรียนก็หนักอึ้งแทบลิ้นห้อยเด็กไทยสมัยนี้ยังต้องใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน วันหยุดสุดสัปดาห์ หรือแม้แต่ปิดเทอม ไปลงเรียนกวดวิชากันอีก

หนักไปกว่านั้น เด็กบางคนยังเลือกลงคอร์สกวดแบบ "แอ๊ดวานซ์" หรือกวดในเนื้อหาที่สูงเกินกว่าระดับชั้นที่ตัวเองเรียน เช่น อยู่ ม.1 แต่เลือกกวดล่วงหน้าวิชาของ ม.2-ม.3

กลายเป็นคำถามทอล์กออฟเดอะทาวน์ เกิดอะไรขึ้นกับเด็กไทยสมัยนี้ ปริศนาคาใจข้างต้น ถ้ามีเหตุผลคำตอบให้เลือกเดา ระหว่าง

ข้อ ก. เพราะเด็กสมัยนี้สมองดี หรือเก่งกว่าเด็กรุ่นก่อน

ข้อ ข. สมัยนี้ครูในโรงเรียนสอนแต่อะไรชิลๆ ง่ายเกินไป ไม่สะใจเด็ก

ข้อ ค. ถูกทั้ง ก.และ ข.

ข้อ ง. ผิดหมดทุกข้อ

ใครจะเลือกเดาข้อไหน เชิญตามสบาย...

แต่ถ้าให้ ศุภฤกษ์ สกุลชัยพรเลิศ หรือ "ครูซุปเค" (Sup'k) เจ้าของสถาบันกวดวิชา Sup'k Center หนึ่งในติวเตอร์ชื่อดัง ผู้เป็นไอดอล หรือแบบอย่างขวัญใจของเด็กไทยอีกนับแสนคน ที่เรียนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนไม่รู้เรื่อง เลือกคำตอบที่โดนใจเขาที่สุดสักข้อ เชื่อแน่ว่า เขาต้องเลือก ข้อ ง. 

เพราะอะไรน่ะหรือ บรรทัดถัดจากนี้ไป คือเหตุผล

ครูซุปเคบอกว่า การเรียนกวดวิชาแบบเกินระดับชั้นเรียนล่วงหน้า หรือที่บางคนเรียกว่า กวดวิชาแบบแอ๊ดวานซ์ คอร์ส มีทั้งผู้ที่เรียน แบบเต็มใจ และ ไม่เต็มใจ

เขาอธิบายเด็กที่กวดวิชาเกินระดับ ด้วยความสมัครใจ ปกติจะมีไม่มาก หรือคอร์สละไม่เกิน 1% ของจำนวนเด็กทั้งหมด

ยกตัวอย่าง ที่ซุปเค เซ็นเตอร์ แต่ละเทอมมีเด็กไปสมัครเรียนทั้งสิ้นประมาณ 6,000 คน มีเด็กที่สมัครเรียนคณิตศาสตร์ คอร์สเกินระดับ ด้วยความสมัครใจอย่างมากประมาณ 60 คน ที่เหลืออีก 5,000 กว่าคน เลือกสมัครเรียนในคอร์สปกติ

"เด็กที่ลงเรียนคอร์สแอ๊ดวานซ์ ด้วยความเต็มใจ คือเด็กที่เรียนแล้ว เขารู้สึกสนุกจึงอยากเรียน ส่วนเด็กที่ต้องจำใจเรียนแอ๊ดวานซ์ คอร์ส เป็นเพราะมีเหตุผลบางอย่างให้ต้องเรียน"

ครูซุปเคบอกว่า ปกติไม่มีเด็กคนไหนอยากเอาเวลาว่างของตัวเองไปนั่งหลังขดหลังแข็งเรียนเพิ่มจากสิ่งที่เรียนรู้มาจากชั้นเรียนในโรงเรียนของตัวเอง พวกเขาอยากพักผ่อนกันทั้งนั้น

แต่เป็นเพราะเด็กเหล่านั้น เรียนในโรงเรียน ไม่รู้เรื่อง บ้าง ครูที่โรงเรียนใช้วิธีเอาเนื้อหาส่วนเกินมาออกสอบ บ้าง เด็กที่อยากสอบได้เกรดดี จึงต้องดิ้นรนใช้เวลาพักของตัวเองไปหาเรียนเพิ่มเติม   เพื่อให้เรียนรู้เรื่องและทำสอบได้คะแนนดี เรื่องนี้จึงเป็นปัญหางูกินหาง

ครูซุปเคบอกว่า จิตใจของมนุษย์มีหลายรูปแบบ ครูบางท่านเห็นว่าเด็กในห้องไม่ตั้งใจเรียน จึงแก้เผ็ดด้วยการออกสอบให้ยากหน่อย เพื่อหวังให้เด็กเข็ดหลาบ จะได้หันมาสนใจเรียน แทนที่ครูจะเป็นฝ่ายปรับวิธีการสอนของตัวเองให้น่าสนใจ กลับไปลงที่เด็ก กลายเป็นอีกสาเหตุที่ผลักไสให้เด็กส่วนใหญ่ต้องออกมาเรียนกวดวิชา

ภาดล ชำนินาวากุล นักเรียน ม.3 โรงเรียนสาธิตชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ศิษย์ก้นกุฏิของครูซุปเค คือตัวอย่างหนึ่งของนักเรียนกวดวิชาแอ๊ดวานซ์ คอร์ส ที่เรียนเนื้อหาคณิตศาสตร์ของชั้น ม.6 จบตั้งแต่เมื่อเขายังเรียนอยู่ชั้น ม.2 หนุ่มน้อยรายนี้ เผยความในใจว่า

"เมื่อก่อนผมก็เหมือนกับเพื่อนๆ ตอนอยู่ ป.6 เรียนเลขในโรงเรียนไม่รู้เรื่อง และรู้สึกเกลียดวิชาเลข แต่พอไปเรียนกับพี่ซุปเคแล้ว เริ่มเข้าใจมากขึ้น ทำข้อสอบที่โรงเรียนได้คะแนนดีขึ้น เลยเริ่มสนุกกับการเรียนเลขตั้งแต่นั้นมา ช่วงปิดเทอมว่างๆจึงลงเรียนคอร์สแอ๊ดวานซ์มาเรื่อยๆ จนจบเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ของ ม.6 ไปเมื่อปีที่แล้ว"

ภาดลบอกว่า ข้อเสียของการเรียนเกินระดับ สำหรับเขาถ้าจะมีก็แค่อย่างเดียว คือเรียนรู้จากกวดวิชาจนหมดไส้หมดพุงแล้ว เวลาเรียนในห้องเรียนจะรู้สึกเบื่อ แต่ก็แก้ปัญหาโดยใช้วิธีนั่งทำการบ้านที่ครูให้ไปเรื่อยๆ ไม่ชวนใครคุย ไม่รบกวนใคร



ดุลยทรรศน์

ดุลยทรรศน์ ศรีพิมานวัฒน์ ศิษย์ก้นกุฏิของครูซุปเคอีกราย ปัจจุบันเขาเป็นนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ปี 1 ชายหนุ่มระบายความในใจจากประสบการณ์ ของตัวเองว่า นอกจากเรียนเกินระดับแบบเต็มใจ ยังมีเด็กติวแอ๊ดวานซ์ คอร์ส อีกไม่น้อยที่ จำใจเรียน

เขาบอกว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ครูสอนในโรงเรียนใช้วิธี สอนเกินบทเรียน บ้าง สอนแบบโยกบท บ้าง ครูบางท่านสั่งให้เด็ก ทำโครงงานวิชาคณิตศาสตร์ โดยให้ลองค้นหาทฤษฎีใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครคิดได้มาก่อน หรือไม่ก็ ให้ไปหาโจทย์เลขเด็ดๆ ทำส่งเป็นโครงงานฯ

นิสิตหนุ่มยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ปกติตามโรงเรียนทั่วไป ในชั้นเรียนระดับ ม.2 จะต้องเรียนเรื่อง การแยกตัวประกอบพหุนาม พอขึ้นชั้น ม.3 ก็มีเรียนเรื่องนี้อีกครั้ง แต่ในระดับความยากที่ต่างกัน

เขาบอกว่าแต่มีครูในโรงเรียนบางท่าน เล่นใช้วิธีเอาเนื้อหาเรื่องการแยกตัวประกอบพหุนาม ของ ม.3 ซึ่งยังไม่ได้สอน มาออกสอบกับเด็กนักเรียน ม.2



ภาดล

หรือไม่ก็เล่นใช้ข้อสอบเรื่องการแยกตัวประกอบพหุนาม ที่ยากในระดับสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือระดับคณิตศาสตร์โอลิมปิก เอามาออกสอบลองภูมิเด็ก

"ทั้งที่จุดประสงค์ของหลักสูตร ต้องการให้เด็กเรียนรู้แล้วสามารถคิดเป็น ประยุกต์เป็น แต่ปัญหากลับอยู่ที่ผู้ออกข้อสอบ ไม่รู้ไปเอาอะไรมาสอนและออกข้อสอบ พอเด็กเรียนแล้วไม่เข้าใจ หรือสอบตกกันระนาว เด็กส่วนหนึ่งที่อยากทำคะแนนสอบให้ดี ตามที่ตัวเองและพ่อแม่คาดหวัง จึงจำใจต้องไปหาเรียนเพิ่ม ในเนื้อหาส่วนที่เกินจากระดับของตัวเอง"

เช่นกันกับกรณี ครูใช้วิธีโยกบทสอน ดุลยทรรศน์ ยกตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นว่า ทุกวันนี้เนื้อหาวิชาเลข ม.4 เทอม 1 โรงเรียน ก. อาจเลือกสอนเรื่องตรรกศาสตร์ เซต จำนวนจริง และ เมทริกซ์

โรงเรียน ข. ก็สอนสามเนื้อหาแรกตรงกัน แต่เนื้อหาที่ 4 ครูเลือกโยกบท

ไปสอนเรื่อง ความสัมพันธ์อุปนัย แทน เมทริกซ์

ขณะที่โรงเรียน ค. สอนสามเนื้อหาแรกตรงกัน แต่เนื้อหาที่ 4 ครูเลือกสอนเรื่อง เรขาคณิตวิเคราะห์ กับ ทฤษฎีจำนวน

"การที่แต่ละโรงเรียนเลือกสอนเนื้อหาที่ 4 ก่อน-หลังไม่เหมือนกัน แล้วแต่ ว่าครูจะเลือกโยกสอนบทไหน แต่โรงเรียนกวดวิชาเห็นว่า ที่ถูกแล้วเด็กควรไล่เรียงเรียนทีละขั้นตอน ตามแบบโรงเรียน ค. คือ ควรเรียนเรขาคณิตวิเคราะห์ก่อน เพื่อจะได้วาดกราฟความสัมพันธ์ได้"

ดุลยทรรศน์บอกว่า ปัญหาก็คือ ตอนอยู่ในโรงเรียน เด็กต้องเรียนตามที่ครูโยกบทสอน แต่ครูสอนแล้วไม่เข้าใจ เด็กจึงแก้ปัญหาด้วยการออกไปหาติวต่อข้างนอก



ศุภฤกษ์

แน่นอนว่าเด็กทุกคนล้วนอยากให้โรงเรียนกวดวิชาจัดติวให้ตรงกับตามที่โรงเรียนตัวเองสอน จะได้ไม่ต้องไปเรียนเนื้อหาส่วนที่เกินจากโรงเรียนอื่น

ฝ่ายโรงเรียนกวดวิชาเองก็ปวดหัว เพราะการโยกบทเรียนแบบนี้ เท่ากับบีบให้เด็กต้องทนเรียนเกินกับทางโรงเรียนกวดวิชาโดยไม่เต็มใจ

ดุลยทรรศน์บอกว่า ทั้งๆที่เนื้อหาเรื่องเมทริกซ์ กระทรวงศึกษาฯสั่งให้เรียนตอน ม.4 เทอม 2 แต่เปิดช่องเอาไว้ว่า ถ้าครูผู้สอนเห็นสมควร ก็จัดไปเลย

นิสิตหนุ่มบอกว่า ยังไม่รวมปัญหากรณีการสอบ GAT และ PAT ที่บีบให้เด็กต้องไปหาเรียนเกินกับโรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้จบเนื้อหา ม.6 เร็วขึ้น จะได้นำความรู้ไปใช้สอบตอนที่ตัวเองอยู่ ม.5 เทอม 2

ประเด็นนี้ครูซุปเคให้ความเห็นว่า แทนที่กระทรวงศึกษาฯจะแก้ปัญหานี้ โดยให้เด็กทุกคนมีสิทธิสอบ PAT ครั้งแรกหลังจากเรียนจบ ม.6 เทอม 2 เพื่อเด็กทุกคนจะได้ใช้เวลาเรียนตามระดับครบ 3 ปีเท่ากัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน 

กระทรวงฯกลับเปิดโอกาสให้ทดลองสอบ PAT ครั้งแรกได้ตั้งแต่ตอน ม.5 เทอม 2 ทีนี้ใครๆก็อยากลองสอบให้คุ้นชินกับสนามสอบกันทั้งนั้น ไปๆมาๆเท่ากับไปบีบให้เด็ก ม.5 ต้องแข่งกันเรียนเกินวิชาของเด็ก ม.6 เพื่อเอาไปใช้สอบ PAT 

ครูซุปเคฝากสรุปเป็นข้อคิดทิ้งท้ายว่า การที่เด็กสักคนสามารถเรียนเกินระดับชั้นได้อย่างเหมาะสม อย่างแรกผู้สอนต้องรู้จักตัวตนของเด็กว่า มีความสามารถแค่ไหน เด็กชอบอะไร รวมทั้งต้องยอมรับในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน แล้วจัดการศึกษาให้เหมาะกับศักยภาพของเด็กเป็นรายคน

"ผมไม่อยากให้ครูในโรงเรียนมีทัศนคติไม่ดีต่อโรงเรียนกวดวิชา ถ้าอยากให้การเรียนเกินระดับชั้นหมดไป ก่อนอื่นทุกโรงเรียนต้องปรับปรุงคุณภาพครู วิธีการสอน สื่อการสอน และมาตรฐานการออกสอบ แต่ถามว่าในความเป็นจริง ทำได้แค่ไหน"



ที่มา  Thairath

Blogger Comment
Facebook Comment

:ambivalent:
:angry:
:confused:
:content:
:cool:
:crazy:
:cry:
:embarrassed:
:footinmouth:
:frown:
:gasp:
:grin:
:heart:
:hearteyes:
:innocent:
:kiss:
:laughing:
:minifrown:
:minismile:
:moneymouth:
:naughty:
:nerd:
:notamused:
:sarcastic:
:sealed:
:sick:
:slant:
:smile:
:thumbsdown:
:thumbsup:
:wink:
:yuck:
:yum:

loading...

Facebook

นิยม

บทความ

loading...