คุณอาราธนา โลเฮีย (ที่ 5 จากซ้าย – แถวหลัง) ตัวแทนจากบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และ มร.ริชาร์ด โจนส์ (ที่ 5 จากขวา–แถวหลัง) รองประธาน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ถ่ายภาพร่วมกับคณะกรรมการ และกลุ่มผู้ชนะโครงการประกวดออกแบบ รีโค่ ยัง ดีไซเนอร์ ประจำปี 2559
กรุงเทพ ฯ, ประเทศไทย – 5 เมษายน 2559: รีโค่ ยัง ดีไซเนอร์ ประจำปี 2559 (RECO Young Designer 2016) ขนผลงานสุดยอดไอเดียการออกแบบด้วยผลิตภัณฑ์ใช้แล้ว พร้อมประกาศผลรางวัลผู้ชนะเลิศเจ้าของผลงานความคิดสร้างสรรค์จาก 20 ทีมผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ภายใต้คอนเซ็ปต์การใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน “Life is Play: Show Your Passion” บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส สานต่อการสนับสนุนแนวคิด 3 Rโดยตัวอักษร R ทั้งสามตัวนี้ มีที่มาจาก Reducing – การลดการใช้ Reusing – การใช้ซ้ำ และ Recycling – การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมกับคำว่า อีโค่ (ECO) เกิดเป็นคำว่า “RECO”
โดยเจ้าของรางวัลชนะเลิศด้านสาขาออกแบบแฟชั่น ได้แก่ นายวรรณกร อุ่นวิเศษ หรือคุณดุ๊ก ดีไซเนอร์อิสระ เจ้าของผลงาน ไฟเออร์ พาวเวอร์ (Fire Power) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบรรยากาศในงานเฉลิมฉลองที่มีดอกไม้ไฟมาช่วยสร้างสีสันให้กับท้องฟ้ายามค่ำตืน อาศัยเส้นกราฟิก และโครงชุดสู่รูปแบบการกระจายตัวของพลุที่พุ่งจากพื้นดิน และเกิดการประทุเป็นประกายไฟที่สวยงาม
ไฟเออร์ พาวเวอร์
ด้านผู้ชนะเลิศสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ตกเป็นของนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นางสาวสุภาวิณี ใจกว้าง หรือน้องฟ้า นักศึกษาปีที่สอง คณะศิลปกรรมศาสตร์ ด้วยผลงานที่มีชื่อว่า หินแห่งความจรรโลงใจ ( Jewelry Hot Stone) ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากลวดลายของหินที่อยู่ใต้ท้องน้ำ ให้ความสงบตามวิถีแห่งเซน แต่แข็งแกร่ง ทนทาน โดยเครื่องประดับชิ้นนี้ ผ่านกระบวนการและเทคนิคทางศิลปะ เพื่อเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้มีคุณค่าทางจิตใจทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
หินแห่งความจรรโลงใจ
ผลงานทุกชิ้นที่ถูกสร้างสรรค์ภายใต้โครงการของรีโค่ ประกอบขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ PET และโพลีเอสเตอร์ใช้แล้ว ไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของวัสดุทั้งหมด ซึ่งผลงานทั้งหมดรังสรรค์ขึ้นโดยคำนึงถึงการใช้งาน ควบคู่ไปกับการออกแบบอย่างเป็นศิลปะ และผลงานบางส่วนยังสามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งตรงกับจุดประสงค์หลักของรีโค่ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัสดุใช้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เชิงเทียนรูปทรงสวยงามประณีตที่ถูกทำขึ้นจากขวดพลาสติก PET เหลือใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทุกคนได้ว่า สิ่งของเหลือใช้สามารถนำไปผลิตของชิ้นใหม่ที่มีความสวยงาม และใช้งานได้จริงไปพร้อมๆกันได้
มร.ริชาร์ด โจนส์ รองประธาน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้คนได้เห็นว่า PET และโพลีเอสเตอร์ที่ใช้แล้วสามารถรังสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานดีไซต์ที่มีความงดงามได้ ถึงแม้ว่าการแข่งขันนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ห้าแล้วก็ตาม แต่เสียงตอบรับจากเหล่าดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำวัสดุใช้แล้วมาใช้ในการออกแบบเพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมนั้นยังเป็นที่สนใจอยู่มาก ซึ่งเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบของเราที่ต้องการให้ความรู้แก่เด็กรุ่นใหม่และสนับสนุนให้เกิดการสร้างสิ่งที่ดีให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ”
คุณอาราธนา โลเฮีย ตัวแทนจากบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ประกาศผลรางวัลให้แก่กลุ่มผู้ชนะเลิศจากโครงการรีโค่ในครั้งนี้ ซึ่งการออกแบบผลงานทุกชิ้นล้วนมีความประณีต และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จากนักดีไซเนอร์รุ่นใหม่อย่างแท้จริง โดยโครงการประกวดออกแบบอย่าง รีโค่ ยัง ดีไซเนอร์ นั้นถือได้ว่าเป็นกระบอกเสียงของเราที่ช่วยส่งต่อความตั้งใจในการสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม และการจัดการกับของเสียซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนให้กับคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไป เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกวดในครั้งนี้จะเป็นการเริ่มต้นสู่ความสำเร็จบนถนนอาชีพของผู้เข้าประกวด รวมไปถึงเป็นแรงบันดาลใจในการรีไซเคิลสิ่งของให้กับคนรุ่นต่อไป ”
จากผลงานกว่า 200 ชิ้น ที่ถูกส่งมาจากนักดีไซเนอร์รุ่นใหม่ทั่วประเทศ อินโดรามา เวนเจอร์สได้เลือกเอาไอเดียที่ดี่ที่สุด 30 อันดับแรก เพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปการดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายในงาน ผู้เข้าร่วมได้รับคำแนะนำด้านการออกแบบและธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญในวงการออกแบบ และวิทยากรพิเศษซึ่งประสบความสำเร็จด้านการทำการตลาดกับแบรนด์สินค้า หลังจากนั้น คณะกรรมการได้คัดเลือก 20 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าสู่การแข่งขันที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขี้น โดยทั้ง 20 ทีมจะได้รับการแนะแนวอย่างใกล้ชิดจากที่ปรึกษา ซึ่งช่วยกันขัดเกลาไอเดีย และแนะนำเทคนิคในการสร้างชิ้นงาน
คณะกรรมการผู้ตัดสินในครั้งนี้ ประกอบด้วยนักออกแบบชื่อดังและเหล่ากูรูในวงการออกแบบอย่าง คุณอภิวัฒน์ ยศประพันธ์ Style Editorนิตยสารแพรว อาจารย์จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์ปฎิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ ( Scrap Lab) สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณไชยยง รัตนอังกูร บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Wallpaper ประเทศไทย และประธานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และคุณณฤต เลิศอุตสาหกูล ดีไซเนอร์ นักออกแบบ D.I.Y ชื่อดังของไทย
ผู้ชนะจากทั้งสองสาขา (แฟชั่นและผลิตภัณฑ์) ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาทต่อสาขา และรองชนะเลิศลำดับที่ 2 และ 3 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ โดยความพิเศษในปีนี้ คือ การมอบรางวัลพิเศษในชื่อ Indorama Ventues’ Favorite ซึ่งเป็นรางวัลใหม่สำหรับนักออกแบบเสื้อผ้าที่สามารถนำไปสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน โดยผู้ชนะรางวัลนี้ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท จากอินโดรามา เวนเจอร์ส
ทาง อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้จัดการแสดงผลงานของผู้เข้าประกวดทั้ง 20 ทีมสุดท้ายให้ผู้ที่สนใจได้รับชมกันในระหว่างวันที่ 4 – 11 เมษายน2559 ณ Hof Art Gallery ชั้น 2 ดับเบิ้ลยู ดิสทริค (สถานีรถไฟฟ้าพระโขนง)
สามารถติดตามชมรายละเอียดเพิ่มเติมของผู้เข้าประกวด และผลงานอื่นๆ ได้ที่ www.indoramaventures.com และ www.facebook.com/recoyoungdesigner