วาไรตี้
ประชาสัมพันธ์
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อธิการบดี มธ. แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อธิการบดี มธ. แสดงบทความทั้งหมด

“พงษ์สวัสดิ์”-“สมคิด”คู่ชิงอธิการบดี มธ.

 ผศ.ดร.วิทวัส ศตสุข อาจารย์ประจำคณะวิศว กรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มธ.เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มธ. ที่มีนายมารุต บุนนาค เป็นประธานได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่รับการทาบทามเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น อธิการบดี มธ. แทน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 25 ต.ค. 2553 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจากจำนวนผู้สมัคร ผู้ได้รับการเสนอชื่อจากหน่วยงาน ซึ่งมีคุณสมบัติครบที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี มธ.ตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 21 คน ปรากฏว่า มีผู้ตอบรับการทาบทามพร้อมกับเสนอนโยบายการบริหาร มธ.กลับมาที่คณะกรรมการสรรหาฯ จำนวน  2 คน ได้แก่ รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม และอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายการคลัง
   
ผศ.ดร.วิทวัส  กล่าวต่อไปว่า จากนี้คณะกรรมการสรรหาฯ จะส่งนโยบายการบริหาร มธ.ของผู้ตอบรับการทาบทาม ไปให้โรงพิมพ์จัดพิมพ์ คาดว่าจะใช้เวลา 10 วัน จากนั้นจะแจกจ่ายให้ประชาคม มธ.ทั้งหมดได้อ่าน ก่อนที่จะเชิญผู้ที่ตอบรับการทาบทามมาแสดงนโยบายการบริหาร มธ. ในวันที่ 1 ต.ค. 2553 โดยจะมีการถ่ายทอดให้ประชาคม มธ. ทั้ง 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต และ ศูนย์ลำปาง ได้รับชมพร้อมกัน และวันเดียวกันนั้น ก็จะมีการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี มธ. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถเสนอได้มากกว่า 1 รายชื่อ จากนั้นสภามหาวิทยาลัยจะพิจารณาคัดเลือกในวันที่ 18 ต.ค. 2553 ต่อไป.

ข่าว  เดลินิวส์
ภาพ  www.me.engr.tu.ac.th

เปิดวิสัยทัศน์ 2 ตัวเต็งชิงอธิการบดีมธ.

เหลือเวลาอีกไม่นาน ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยา ลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 25 ตุลาคม 2553 ช่วงนี้จึงเป็นบรรยากาศของการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ซึ่งครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากหน่วยงานต่าง ๆ ถึง 22 คน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะตอบรับการทาบทาม อย่างน้อย รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ก็ได้ประกาศว่าจะไม่ตอบรับการทาบทาม โดยให้เหตุผลว่า จากผลการหยั่งเสียงเห็นว่า ประชาคมธรรมศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ “มหาวิทยาลัยประชาชน” ที่นำเสนอไว้ จึงต้องเคารพเสียงของประชาคม โดยการไม่ตอบรับการทาบทาม
   
เวลานี้ผู้ที่เป็นตัวเต็งโดดเด่นจึงเหลือเพียง 2 คน คือ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดี ฝ่ายการคลัง และ รศ.ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม ดังนั้นวันนี้เราลองมาฟังกันดูว่า แต่ละคนมีวิสัยทัศน์อย่างไรกับการขับเคลื่อนธรรมศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า
   
เริ่มกันที่ ศ.ดร.สมคิด มองว่า ธรรมศาสตร์ในอนาคตต้องเป็นศูนย์รวมของผู้รู้ทางวิชาการ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และยิ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศตัวว่าจะเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” ก็ต้องเน้นทำการวิจัย เน้นวิชาการ ดังนั้นตนมีแผนพัฒนาอาจารย์ให้มีวุฒิและตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้น จากที่ปัจจุบันมีอาจารย์ที่เป็นศาสตราจารย์ (ศ.) เพียง 30 คน ในขณะที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศจะมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอก 100% ดังนั้นมธ.จะต้องเพิ่มอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอกให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
   
ศ.ดร.สมคิด ยังมองว่า นักศึกษาเปรียบเหมือนเมล็ดพืช ไม่ว่าตกอยู่ที่ไหนก็จะงอกเงย ช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ตนจึงอยากเห็นภาพนี้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าบรรยากาศการเมืองในธรรมศาสตร์หายไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักศึกษาปริญญาตรีย้ายไปอยู่ที่ศูนย์รังสิตหมด ตอนนี้ท่าพระจันทร์เงียบมาก แทบไม่เห็นบรรยากาศทางวิชาการเหมือนในอดีต ตนจึงคิดที่จะย้ายนักศึกษาชั้นปี 1-2 และบางคณะกลับมาเรียนที่ท่าพระจันทร์เหมือนในอดีต เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐ ศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เพราะท่าพระจันทร์เป็นจุดเริ่มต้นของ มธ. แต่เรื่องนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยว่าจะมีมติอย่างไร รวมทั้งตนอยากให้ธรรมศาสตร์ เป็นแหล่งชุมนุมของผู้มีความรู้ ทั้งอาจารย์ นักศึกษาและผู้ที่ต้องการเข้ามาใฝ่หาความรู้ ที่สำคัญอยากให้ธรรมศาสตร์กลับไปเน้นจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ คือผลิตบัณฑิตที่รักประชาธิปไตย กล้าตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รักความเป็นธรรม กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง
   
“ผมยังอยากให้ธรรมศาสตร์มีโรงเรียนธรรมศาสตร์วิทยานุสรณ์ที่มีลักษณะคล้าย กับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่จะมุ่งผลิตเด็กเก่งด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เพื่อป้อนให้แก่มธ. ส่วนโรงเรียนสาธิต มธ.จะเน้นวิชาการผสมผสานด้านสังคม เพื่อให้ลูกศิษย์เป็นคนเก่งและดีช่วยเหลือสังคม ส่วนที่ มธ.ศูนย์รังสิตในอนาคต ผมอยากให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ ทั้งด้านวิชาการ คือมีครบทุกสาขา ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ และสาธารณสุข สมบูรณ์แบบด้านการวิจัย และสมบูรณ์แบบด้านที่พักอาศัย ที่สามารถรองรับทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาอย่างเพียงพอ สมบูรณ์แบบด้านสนามกีฬา มีสนามกีฬาทุก ประเภทและสมบูรณ์แบบทางด้านการแพทย์ โดยมีจุดเน้นเฉพาะทางด้วย”
   
ขณะที่ รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ บอกว่า วิสัยทัศน์ของตนชัดเจนคือ “การทำให้ธรรมศาสตร์เป็นเลิศทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค “แต่ก่อนที่จะไปสู่ความเป็นเลิศ มีสโลแกนให้สังคมคนธรรมศาสตร์ และสภามหาวิทยาลัยหันกลับมามองธรรมศาสตร์ก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยถึงเวลาแล้วที่เราจะต้อง “เปิดใจให้กว้าง เราร่วมกันสร้างธรรมศาสตร์” เนื่องจากเรายังติดภาพลักษณ์เดิมและภาคภูมิใจว่าธรรมศาสตร์ยังเป็น มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แต่ความจริงคือ ธรรมศาสตร์ไม่ใช่มหาวิทยาลัยอันดับต้นอีกต่อไป แต่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ ขณะที่ธรรมศาสตร์มีเป้าหมายจะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศ แต่ถูกจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 8 จาก 9 จากมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ และจากการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคเอเชียในภาพรวม (200 อันดับ) ธรรมศาสตร์ก็อยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ และก้าวหน้าค่อนข้างช้า
   
รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ บอกอีกว่า เรื่องนี้ในแวดวงการศึกษารู้มานานแล้ว และรู้ดีว่าธรรมศาสตร์อยู่ตรงไหน ธรรมศาสตร์ด้อยลงทุกวัน และถ้ายังคงพัฒนาวิชาการแบบเดิมต่อไปจะล้าหลัง แย่ลงกว่าเดิม ดูได้จากถ้าจะมีคำถามใด ๆ จากสังคมออกมา จะไม่มีใครมาถามธรรมศาสตร์ ยกเว้นถามเรื่องกฎหมายและการเมือง แต่ถ้าต้องการรู้เรื่องเศรษฐกิจ จะถามมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถามเรื่องแพทย์ก็ที่มหิดล หรือถามเรื่องวิทยาศาสตร์ก็ต้องที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
   
“เมื่อธรรมศาสตร์เปิดใจกว้าง ยอมรับความจริง และพร้อมสู่ความเป็นเลิศทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ผมก็มีแผนที่เป็นรูปธรรมในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อปิดช่องว่าง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในแง่ของการวิจัย การสอน การพัฒนาบุคลากร และระบบสารสนเทศ โดยต้องเริ่มจากการพัฒนาวิชาการ และทิศทางสู่ความเป็นเลิศในเอเชีย ที่ต้องปรับปรุงการเรียนการสอน ปรับวิชาพื้นฐาน เน้นภาษาอังกฤษ การเพิ่มสัดส่วนอาจารย์ประจำระดับปริญญาเอกมากขึ้น การวิจัย และความเป็นสากลหรือนานาชาติ ต้องมีการเพิ่มอาจารย์จากต่างประเทศมาสอน มีนักศึกษาต่างชาติมาแลกเปลี่ยน และส่งนักศึกษาธรรมศาสตร์ไป ฝึกงานต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องวางตำแหน่งของธรรมศาสตร์ใหม่ คิด  นวัตกรรมใหม่ พัฒนาบุคลากร พัฒนาสินทรัพย์ การสร้างระบบงาน เพื่อเอื้อสู่ความเป็นเลิศ จากนั้นต้องมาดูการจัดการภายในเพื่อความยั่งยืน โดยมาดูว่าจะทำอย่างไร   ให้การทำงานทุกระบบของธรรมศาสตร์มีคุณภาพ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กายภาพ ระบบข้อมูล สวัสดิการพนักงาน และรักษาเกียรติภูมิ ธำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลธรรมศาสตร์ และพยายามทำให้เด็กมัธยมปลายเลือกมาเรียนที่ธรรมศาสตร์เป็นอันดับ 1 อย่างที่เคยเป็น”
   
รศ.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ ยังบอกอีกว่า ตนมีเป้าหมายวางรากฐานธรรมศาสตร์ในการเดินไปข้างหน้าเพื่อกลับไปเป็นผู้นำ อันดับ 1 เหมือนเดิม และเลื่อนอันดับในเอเชียจากอันดับที่ 91 มาอยู่ที่ 50-60 อย่างไรก็ตามการจะไปสู่ความสำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากคนธรรมศาสตร์ ซึ่งตนก็พร้อมที่จะรับเป็นผู้นำให้กับธรรมศาสตร์เพื่อสานต่อปณิธานท่านผู้ ประศาสน์การและร่วมสร้างสถาบันแห่งนี้ให้อาภัสจรัสหล้าอย่างที่เราทุกคนมุ่ง หวังและเกรียงไกรอย่างที่เราเคยเป็น
   
มาถึงวันนี้ก็คงรู้กันไปแล้วว่า มีใครตอบรับการทาบทามบ้าง จากนี้ต้องรอดูกันต่อไปว่า ว่าที่อธิการบดีมธ.คนใหม่จะเป็นใคร ซึ่งในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ได้รู้ผลแน่.

ข่าว  เดลินิวส์
ภาพ  politicalbase.in.th
         facebook.com/openmindTU
loading...

Facebook

นิยม

บทความ

loading...