ประชาสัมพันธ์

google วันนี้ "Robert Doisneau" ช่างภาพที่แสนจะโรแมนติกและมีอารมณ์ขันแห่งนครปารีส

ช่างภาพที่แสนจะโรแมนติกและมีอารมณ์ขันแห่งนครปารีส ผมนั่งดูภาพเค้าแล้ว รู้สึกหลงรักภาพ รักความโรแมนติก ชอบการมองโลกของช่างภาพผู้นี้ขึ้นมาทันที 
จากข้อความ บางส่วนในบทความ 
"ช่างภาพแต่ละคนพยายามหาแนวทางและสไตล์ของตัวเอง ดัวส์โนแสดงให้เราเห็นว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไร งานภาพถ่ายของเราก็เป็นแบบนั้น เสแสร้งไม่ได้ เลียนแบบไม่ได้ เขามองโลกอย่างไรก็ถ่ายรูปออกมาแบบนั้น" 

................................................................................................................
ในขณะที่ช่างภาพผู้อื่นในยุคนั้น เลือกที่จะถ่ายภาพสงคราม ความอดอยาก จมอยู่กับความทุกข์ แต่Robert Doisneau กลับเลือกที่จะถ่ายถอด ความงามในวิถีชีวิตประจำวัน
ของผู้คนออกมา ด้วยกล้อง Twin lens reflex คู่ใจ เพิ่งจะมาอ่านบทความ ถึงรู้ว่าเค้ามีเหตุผล ว่าทำไมเค้าถึงชอบใช้ Twin lens reflex 
รวมความว่า ลองอ่านลองชมภาพของศิลปินคนนี้ดูครับ รับรองได้ว่า 
ได้ความสุขกลับไปแน่นอน 

Robert Doisneau, 1982 by Henri Cartier-Bresson 
ปารีสเป็นเมืองโรแมนติกที่สุดแห่งหนึ่งของโลกตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครเป็นคนบอก ผมไม่อาจทราบได้ แม้ว่าความจริงแล้วปารีสเป็นเมืองที่สกปรกเมืองหนึ่ง ทางเท้าเต็มไปด้วยอึหมา ตามถนน ตรอก ซอกซอย เหม็นฉี่ฉุนจนอยากจะวิ่งหนีไปไกลๆ คนขับรถมารยาททราม ชอบบีบแตร หรือไม่ก็จอดรถถามทางอย่างไม่เกรงใจใคร ในเมโทรเต็มไปด้วยคนจรจัดขี้เมา แต่แม้ว่าสภาพความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้น ผมก็เห็นด้วยว่าปารีสเป็นเมืองที่สวยและโรแมนติกเหมือนใครบางคนว่าเอาไว้ อาจเป็นเพราะในอีกด้านหนึ่ง ชาวปารีเซียงชอบแสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผย พวกเขาถกเถียงกัน แสดงความรักต่อกันในที่สาธารณะอย่างไม่ปิดบัง อาจเป็นเพราะสถาปัตยกรรมของเมืองที่เก่าแก่มีมนต์ขลัง อาจเป็นเพราะศิลปะที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศ หรืออาจเป็นเพราะความละเมียดละไมของวัฒนธรรม กล่าวสำหรับศิลปะภาพถ่าย สิ่งหนึ่งที่ตกค้างในความทรงจำของผม และแสดงตัวขึ้นมาเสมอๆ เมื่อนึกถึงปารีส ความโรแมนติก และความถวิลหาอดีต (nostalgia) คือภาพถ่ายขาวดำจำนวนหนึ่งของช่างภาพชื่อ โรแบร์ต ดัวส์โน (Robert Doisneau, 1912-1994) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายซีรีย์ Kisses (1950) ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Life ภาพหนึ่งในซีรีย์นี้ชื่อ Le Baiser de l'Hôtel de Ville เป็นภาพที่โด่งดังที่สุดของเขา และอาจเป็นภาพถ่ายที่ทำให้ปารีสกลายเป็นเมืองหลวงของความโรแมนติก

Le Baisser de l'Hotel de Ville, Paris 4e, 1950 
โรแบร์ต ดัวส์โน เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน 1912 เ
โรแบร์ต ดัวส์โน เป็นช่างภาพชาวฝรั่งเศสรุ่นราวคราวเดียวกับ Henri Cartier-Bresson และ Willy Ronis ช่างภาพชาวฝรั่งเศสขวัญใจผม พวกเขาประสบชะตากรรมคล้ายๆ กัน และสร้างสมประสบการณ์คล้ายๆ กัน แต่พวกเขามีแนวทางของตัวเองที่ชัดเจน ดัวส์โนกับโรนีสอาจมีความคล้ายคลึงกัน เพราะทั้งสองคนเป็นช่างภาพที่คลุกคลีอยู่กับชีวิตชาวปารีเซียงผู้หาเช้ากินค่ำ กรรมกร อาศัยอยู่แถวชานเมือง ในอดีต ผลงานของเขาถูกปรามาสจากนักวิจารณ์ศิลปะว่าเป็นภาพถ่ายที่ค่อนข้างธรรมดา ไม่ถูกให้ความสำคัญเทียบเท่ากับผลงานของ การ์ตีเยร์-เบรสซง อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผลงานของช่างภาพทั้งสามถูกยกย่องอย่างสูง

Rue Lepic, Paris 18e, 1969 

La maison de Carton, Paris, 1957 
ดัวส์โนเป็นชาวปารีสโดยกำเนิด เขาเกิด เติบโต สร้างผลงาน สร้างชีวิต สร้างครอบครัว และตายอยู่ที่ชานเมืองปารีส ผลงานถ่ายภาพของเขาจึงเป็นเหมือนอัตชีวประวัติของตัวเองที่ผูกพันธ์กับเมืองแห่งนี้ เขาร่ำเรียนศิลปะการออกแบบตัวอักษร และเข้าทำงานที่บริษัทกราฟิกแห่งหนึ่ง แต่ชะตากรรมของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเพื่อนของเขาแนะนำให้รู้จักกับกล้องถ่ายภาพ ไม่ช้าไม่นานหลังจากเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้น ดัวส์โนยืมกล้องจากเพื่อนของเขา และออกไปถ่ายภาพบนถนนของกรุงปารีส ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มันเป็นช่วงที่เขาได้สัมผัสกับการผจญภัยครั้งสำคัญที่ทำให้เขาค้นพบความมีเสน่ห์ของปารีส และเสน่ห์ของเพื่อนร่วมประเทศของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทำงานรายได้น้อยและกรรมกร

Canal Saint-Martin, Paris, 1953 
การเป็นช่างภาพ แต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยได้รับค่าตอบแทนที่พอต่อการยังชีพ ดังนั้นเพื่อความมั่นคงทางรายได้ ดัวส์โนเข้าไปเป็นพนักงานประจำให้กับโรงงานผลิตรถยนต์เรอโนลต์ โดยผลิตผลงานภาพถ่ายเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ไม่ช้าเขาก็ถูกเสนอให้ลาออกเพราะขาดความรับผิดชอบและไม่มีระเบียบวินัย เพราะเขามักขาดงานบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล ใครจะไปรู้ว่าเขาอาจเดินถ่ายภาพอยู่แถวๆ มงทรูจ (Montrouge) ชานเมืองทางตอนใต้ของปารีส หรือริมแม่น้ำมาร์น (Marne) แถบที่ดัวส์โนต์รู้จักดีเหมือนลายมือของตัวเอง แต่การถูกให้ออกจากการทำงานไม่ได้ทำให้ช่างภาพหนุ่มเสียโอกาส ตรงกันข้าม มันกลับเป็นการเปิดประตูอีกบานหนึ่งให้เขาได้ก้าวไปสู่โลกของการถ่ายภาพอย่างจริงจังและเป็นตัวของตัวเอง ดัวส์โนทำงานเป็นช่างภาพวารสารได้สักระยะหนึ่งแล้ว เมื่อฝรั่งเศสถูกกองทัพเยอรมันเข้ายึดครอง กิจกรรมต่างๆ ของช่างภาพเป็นอันต้องถูกจำกัด ดัวส์โนตกอับเหมือนกับช่างภาพคนอื่นๆ เขาต้องประทังชีวิตอยู่ไปวันๆ ด้วยการขายโปสการ์ดและทำบัตรประชาชนปลอมให้กับพวกต่อต้านนาซี แต่หลังจากช่วงปีแห่งการถูกยึดครองผ่านไป การถ่ายภาพวารสารก็กลับมางอกงามอีกครั้ง เหมือนต้นไม้ที่แทงยอดอ่อนขึ้นมาใหม่เมื่อได้รับฝนแรกหลังไฟไหม้ป่า นิตยสารข่าวเกือบ 40 ฉบับได้เปิดตัวขึ้น และช่างภาพกลับเข้าสู่หนทางแห่งความรุ่งเรืองอีกครั้ง ดัวส์โนกลับไปร่วมงานกับวารสารภาพถ่ายอีกครั้ง คราวนี้เขาเริ่มถ่ายรูปบุคคลมากขึ้นตามคำขอของบรรณาธิการ

Coco, Paris, 1952 

Velo-taxi, Avenue de l'Opera, Paris 2e, 1942 
ช่างภาพแต่ละคนพยายามหาแนวทางและสไตล์ของตัวเอง ดัวส์โนแสดงให้เราเห็นว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไร งานภาพถ่ายของเราก็เป็นแบบนั้น เสแสร้งไม่ได้ เลียนแบบไม่ได้ เขามองโลกอย่างไรก็ถ่ายรูปออกมาแบบนั้น ทำให้ผมนึกถึงบางประโยคที่นายพลชาร์ล เดอ โกล พูดกับอองรี การ์ติเยร์ เบรสซง ว่า "เพราะคุณเชื่อ คุณถึงเห็น" (vous avez "vu" parce que vous avez "cru") เมื่อตอนที่ช่างภาพผู้นี้ส่งงานไปให้ประธานาธิบดีผู้นี้พิจารณาเพื่อขอถ่ายรูปพอร์ตเทรต สำหรับดัวส์โน เขาค้นพบแนวทางของตัวเองในเขตคนหาเช้ากินค่ำบนถนนของปารีส ดัวส์โนบอกว่าเขาเป็นคนขึ้อาย ดังนั้นกล้องแบบทวินเลนส์รีเฟล็กส์ (Twin lens reflex) เป็นอุปกรณ์ที่เข้ากับตัวเขาได้อย่างดี คือเขาไม่ต้องเผชิญหน้ากับคนที่เขาจะถ่ายโดยตรง แต่เขามองที่วิวฟายด์เดอร์ที่อยู่ระดับเอว และระยะห่างระหว่างเขากับซับเจ็กต์เป็นระยะที่ห่างพอควร ทำให้ในผลงานของเขา เราจะเห็นสิ่งแวดล้อมที่โอบอุ้มอยู่รอบๆ ซับเจ็กต์ ซึ่งในระยะเวลาต่อมากลายเป็นแนวทางการถ่ายภาพของเขา นอกจากสไตล์ที่เป็นตัวของตัวเองแล้ว ในงานของเขามันฟ้องว่าเขามีความเชื่ออะไร มองโลกอย่างไร?

Paris, Place Saint-Michel, 6e, 1944 

Amour et barbeles, Tuileries, Paris 1e, 1944 
ช่วงปี 1930-1960 ดัวส์โนกับเพื่อนช่างภาพหลายคนรวมกลุ่มกัน Edouard Boubat, Janine Niépce, Izis โดยมี Willy Ronis รวมอยู่ด้วย โดยเรียกตัวเองว่า -ช่างภาพมนุษย์นิยม- (l'Ecole humaniste) ในเวลาต่อมา สไตล์ของพวกเขาถูกเรียกว่า poetic social realisme พวกเขาบันทึกภาพของชาวบ้านธรรมดา ในชีวิตประจำวันธรรมดา แม้ว่าเพื่อนร่วมโลกของเขาจะประสบกับความยากแค้นรำเค็ญ ความอดอยาก เนื่องจากผลพวงของสงคราม แต่ภาพของช่างภาพเหล่านี้เลือกที่จะบันทึกและเล่าแง่งามของความทุกข์ยาก และความงดงามของชีวิตที่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ซึ่งช่างภาพในช่วงเวลาเดียวกันถ่ายภาพเพื่อต้องการรเรียกร้องความสนใจ และช็อกอารมณ์ของคนดู ด้วยภาพถ่ายที่เล่าเรื่องความสลดหดหู่ ข้อสังเกตหนึ่งคือ ไม่มีภาพคนตายในผลงานของดัวส์โนและเพื่อนๆ

Orson Welles "Aux Chasseurs", Paris 10e, 1949 

Simone de Beauvoir aux "Deux Magots", Paris 6e, 1944 

Saul Steinbert et sa baignoire, Paris, 1955 

Les pains de Picasso, Vallauris, 1952 
โลกทัศน์ของโรแบร์ต ดัวส์โน ถูกเปิดให้กว้างออกด้วยแนะนำของเพื่อนสนิทชื่อ Robert Giraut เขาคนนี้พาดัวส์โนเข้าสู่โลกกลางคืนของปารีส แจ๊ซ คลับ และพาไปรู้จักกับนักคิดนักเขียนที่รวมตัวกันอยู่แถบถนนแซงต์ แจร์มัง เด เปร์ (Saint Germain des Près) ในเวลานั้นก็มี Jean Paul Sartre, Simone de Beauvoir คู่รักเจ้าของปรัชญาเอ็กซีสตองเชียลนีส Jean Cocteau นักเขียน และ Dubuffet ศิลปิน รวมทั้งคนอื่นๆ มันเป็นช่วงเวลาของการใช้ชีวิตที่รื่นรมย์ของดัวส์โน ทำงานให้นิตยสารแฟชั่น Vogue ช่วงเช้า และสังสรรค์กับเพื่อนตอนกลางคืน ซึ่งการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดนี้ทำให้เกิดการพัฒนาการทางความคิดและสุนทรียภาพในการทำงานและการมองโลกของเขา ในช่วงเวลานี้เองที่วารสาร Life ขอให้เขาถ่ายภาพซีรียส์เกี่ยวกับคู่รักในปารีส และดัวส์โนเสนอซีรียส์ Kisses ซี่งต่อมากลายเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขา แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าภาพถ่ายชุดนี้เป็นการจัดฉาก แม้ว่าดัวส์โนจะไม่ยอมพูดตรงๆ ว่าเขาได้ว่าจ้างคนเหล่านั้นให้มาจูบกันต่อหน้าเลนส์และฉากหลังที่เขาเตรียมไว้ แต่เขาก็ไม่เคยปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะถูกจัดฉากขึ้นหรือไม่ ภาพถ่ายเหล่านั้นถูกฝังอยู่ในความทรงจำของชาวปารีเซียงและผู้คนทั่วโลก ถึงความเป็นเมืองหลวงของความโรแมนติกของปารีส โดยไม่ลืมที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศของทักษะและสุนทรียภาพของช่างภาพ

La cavalerie du Champs-de-Mars, Paris 7e, 1969 

Les Freres, Paris, 1934


Les tabliers de la rue de Rivoli, Paris 1e, 1978


Bolides, 1946 
จุดเด่นในภาพถ่ายของโรแบร์ต ดัวส์โน เห็นจะเป็นฉากหลังซึ่งเขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เขาเคยบอกไว้ว่าเขาเลือกที่จะใช้สถานที่ใดเป็นที่ถ่ายรูป เสร็จแล้วเขาเพียงแต่ให้บุคคลที่เขาจะถ่ายภาพมายืนในตำแหน่งที่เขาคิดไว้แล้ว หรือหากเป็นการถ่ายภาพบนถนน เขาอาจใช้เวลารอคอยอย่างไม่มีจุดหมายเพียงเพื่อจะมีใครบางคนผ่านมา อาจเป็นเพราะบุคลิกภาพที่อ่อนโยน และมีอารมณ์ขันของดัวส์โนก็ได้ที่ทำให้ภาพถ่ายปารีสและชาวปารีเซียงของเขาฝังอยู่ในความทรงจำของคนทั่วไป และถวิลหาโลกแบบนั้น ดัวส์โนมีความสุขเสมอที่ได้เดินถ่ายภาพและคุยกับผู้คนแปลกหน้าบนถนนที่คุ้นเคย สำหรับเขา ปารีสเปรียบเหมือนโรงละครขนาดใหญ่ที่เขาสามารถตีตั๋วเข้าไปดูได้ตลอดเวลา และชาวปารีเซียงเพื่อนร่วมโลกของเขาเป็นเหมือนนักแสดงที่กำลังแสดงบทบาทอันหลากหลาย ในโลกแห่งนั้น เขาเพลิดเพลินไม่รู้จักเบื่อ เขาบันทึกชีวิตและฉากหลังด้วยความรัก ทีละเล็กทีละน้อยผ่านวันเวลาหลายสิบปี ในที่สุดเมื่อเราได้ดูภาพรวมทั้งหมดที่เขาเก็บสะสม เราจะพบสังคมที่เต็มไปด้วยความสงบสุข ความรัก ความยินดีปรีดา ด้วยสายตาที่สัมผัสโลกอย่างแผ่วเบาและงดงาม ที่นั่นเราจะพบโลกที่งดงามของเขาที่ทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง โรแบรต์ ดัวส์โนบอกว่า เขาบันทึกโลกในสิ่งที่เขาเชื่อและปรารถนาอยากให้โลกใบนี้เป็น... "a world... in which people would be likeable, in which I shall find the tenderness that I should like to feel. My photos are a sort of proof that this world can exist... "


            

Blogger Comment
Facebook Comment

:ambivalent:
:angry:
:confused:
:content:
:cool:
:crazy:
:cry:
:embarrassed:
:footinmouth:
:frown:
:gasp:
:grin:
:heart:
:hearteyes:
:innocent:
:kiss:
:laughing:
:minifrown:
:minismile:
:moneymouth:
:naughty:
:nerd:
:notamused:
:sarcastic:
:sealed:
:sick:
:slant:
:smile:
:thumbsdown:
:thumbsup:
:wink:
:yuck:
:yum:

loading...

Facebook

นิยม

บทความ

loading...